บาลีวันละคำ

พหลโยธิน (บาลีวันละคำ 4,460)

พหลโยธิน

ได้ยินแล้วนึกถึงอะไร

อ่านตามหลักฐานว่า พะ-หะ-ละ-โย-ทิน

อ่านตาม ๆ กันมาว่า พะ-หน-โย-ทิน

ประกอบด้วยคำว่า พหล + โยธิน

(๑) “พหล” 

ภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านว่า พะ-หน ซึ่งหมายถึงเมื่ออยู่คำเดียวหรืออยู่ท้ายคำ แต่ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย ต้องอ่านว่า พะ-หน-ละ- 

คำเทียบเช่น สถล ชล เมื่ออยู่คำเดียวหรืออยู่ท้ายคำอ่านว่า สะ-ถน ชน แต่ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย ต้องอ่านว่า สะ-ถน-ละ- ชน-ละ- เช่น –

สถลมารค อ่านว่า สะ-ถน-ละ-มาก ไม่ใช่ สะ-ถน-มาก

ชลมารค อ่านว่า ชน-ละ-มาก ไม่ใช่ ชน-มาก

พหล” บาลีอ่านว่า พะ-หะ-ละ รากศัพท์มาจาก พหุ (มาก) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่ ลา (ลา > ) และลบ อุ ที่ (พ)-หุ (พหุ > พห)

: พหุ+ ลา = พหุลา > พหุล + = พหุล > พหล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถือเอาเนื้อความไว้มาก” หมายถึง ทึบ, หนา (dense, thick)

บาลีมีทั้ง “พหล” และ “พหุล” ที่เป็น “พหุล” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มาก, ล้นเหลือ (much, abundant)

(2) เป็นคำนาม หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ (abundance)

(3) เป็นสำนวน หมายถึง ปักใจ, ตั้งใจ, อุทิศให้ (given to, intent on, devoted to)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “พหล” แต่มีคำว่า “พหุล” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

พหุล : (คำวิเศษณ์) มาก; ดำ; ใช้ได้หลายประการ, อันเข้าใจได้มากหรือกว้างขวาง; many, much; black; variously applicable, comprehensive or extensive; – (คำนาม) ไฟ; แรม, ปักษ์มืดของเดือน; ฟ้า; กฤตติกา, หมู่ดาวลูกไก่; คราม; กระวาน; โค; fire; the dark half of a month; the sky; the Pleiades; indigo; cardamoms; a cow.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “พหล” และ “พหุล” บอกไว้ว่า – 

(1) พหล : (คำวิเศษณ์) มาก, ใหญ่, หนา, ทึบ. (คำนาม) กองทัพใหญ่. (ป., ส.).

(2) พหุล : (คำวิเศษณ์) หนา, มาก. (ป., ส.).

(๒) “โยธิน

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “โยธี” รากศัพท์มาจาก โยธ + อี ปัจจัย

(ก) “โยธ” บาลีอ่านว่า โย-ทะ รากศัพท์มาจาก ยุธฺ (ธาตุ = รบ, ต่อสู้) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ยุ-(ธ) เป็น โอ (ยุธฺ > โยธ)

: ยุธฺ+ = ยุธณ > ยุธ > โยธ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สู้รบ” หมายถึง นักรบ, ทหาร, นักสู้, โยธา (a warrior, soldier, fighter, champion)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โยธ” บอกไว้ดังนี้ –

โยธ : (คำนาม) นักรบ, ทหาร; a warrior or combatant, a soldier.”

(ข) โยธ + อี ปัจจัย

: โยธฺ + อี = โยธี แปลและมีความหมายเหมือน “โยธ

บาลี “โยธี” สันสกฤตเป็น “โยธินฺ” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

โยธินฺ : (คำนาม) ‘โยธิน,’ นักรบ; a warrior.”

ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “โยธิน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

โยธิน : (คำนาม) นักรบ, ทหาร. (ส.).”

พหล + โยธี = พหลโยธี (พะ-หะ-ละ-โย-ที) แปลว่า “นักรบผู้เข้มแข็ง” หรือ “กองทัพที่เข้มแข็ง” 

บาลี “พหลโยธี” 

สันสกฤต “พหุลโยธินฺ” 

ไทย “พหลโยธิน” 

อภิปรายขยายความ :

พหลโยธิน” เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 468 พระยากำแหงสงคราม (นพ) (22 เมษายน พ.ศ.2414 – 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2462) เป็นผู้ขอพระราชทาน 

คำว่า “พหลโยธิน” ที่เป็นนามสกุล ตามอักษรโรมันที่กำกับไว้เป็น Bahalayodhin (ดูภาพจากราชกิจจานุเบกษา) ต้องอ่านว่า พะ-หะ-ละ-โย-ทิน 

เห็นคำว่า “พหลโยธิน” คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์คงจะนึกถึง พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งมีนามเดิมว่า พจน์ นามสกุล พหลโยธิน (29 มีนาคม พ.ศ.2430 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490) หนึ่งในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

แต่คนไทยทุกวันนี้คงนึกถึง ถนน “พหลโยธิน” อันเป็นหนึ่งในทางหลวงสายประธานทั้ง 4 ของประเทศไทย คือ –

ถนนพหลโยธิน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (สายเหนือ) เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์หลักสี่ ถึงกลางสะพานแม่น้ำสาย (เขตแดนไทย/เมียนมา)

ถนนมิตรภาพ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (สายตะวันออกเฉียงเหนือ) เริ่มต้นจากจังหวัดสระบุรี ถึงสะพานมิตรภาพ จังหวัดหนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว)

ถนนสุขุมวิท ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (สายตะวันออก) เริ่มต้นจากบางนา ถึงหาดเล็ก จังหวัดตราด

ถนนเพชรเกษม ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (สายใต้) เริ่มต้นจากสะพานเนาวจำเนียร เขตบางกอกใหญ่กับเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ถึงจุดผ่านแดนถาวรสะเดา จังหวัดสงขลา (เขตแดนไทย/มาเลเซีย)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อย่าห่วงว่าใครจะนึกถึงเราในฐานะอะไร

: จงห่วงว่าเราจะทำตัวเองให้อยู่ในฐานะอะไร

#บาลีวันละคำ (4,465)

2-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *