บาลีวันละคำ

อธิคุณ (บาลีวันละคำ 4,471)

อธิคุณ

เพราะไม่คิด จึงผิดจนเคย

อ่านว่า อะ-ทิ-คุน

ประกอบด้วยคำว่า อธิ + คุณ

(๑) “อธิ

เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

(1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

(2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

(๒) “คุณ” 

บาลีอ่านว่า คุ-นะ รากศัพท์มาจาก คุณฺ (ธาตุ = ประกาศ, ผูก, มัด, สั่งสม) + (อะ) ปัจจัย 

: คุณฺ + = คุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “สิ่งที่ประกาศความดีของตน” = เมื่อทำสิ่งนั้น ก็จะประกาศให้รู้ว่าสิ่งที่ทำหรือผู้ทำสิ่งนั้นมีความดี

(2) “สิ่งที่ผูกผลไว้กับตน” = เมื่อทำสิ่งนั้นก็เท่ากับได้ผลของสิ่งนั้นติดพันมาด้วย

(3) “สิ่งอันผู้ต้องการความดีสั่งสม” = ใครต้องการความดีก็ต้องสั่งสมสิ่งนั้น ถ้าไม่สั่งสมก็ไม่มีและไม่ได้สิ่งที่ต้องการ

คุณ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เชือก, ด้าย (a string, a cord) 

(2) ส่วนที่ประกอบขึ้น, ส่วนผสม, สิ่งที่ประกอบ (constituent part, ingredient, component, element)

(3) คุณภาพ, คุณความดี, ผลประโยชน์, ผลบุญ  (quality, good quality, advantage, merit)

(4) เมื่อใช้กับ “จำนวน” หรือสิ่งที่นับจำนวน หมายถึง ประการ, ส่วน, เท่า (-fold) 

อธิ + คุณ = อธิคุณ บาลีอ่านว่า อะ-ทิ-คุ-นะ ในที่นี้อ่านแบบไทยว่า อะ-ทิ-คุน แปลว่า “คุณอันยิ่งใหญ่” 

อภิปรายขยายความ :

ผู้รู้ประมวลพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็น 3 ส่วน คือ –

(1) พระปัญญา 

(2) พระวิสุทธิ (บางทีใช้คำว่า บริสุทธิ

(3) พระกรุณา 

มีผู้ใช้คำเรียกพระคุณทั้งสามว่า –

พระปัญญาธิคุณ 

พระวิสุทธิคุณ 

พระกรุณาธิคุณ 

(ลำดับก่อนหลังอาจต่างกันไป)

ขอชวนให้พิจารณาว่า คำเรียกพระคุณทั้งสามนี้ มีคำว่า “อธิคุณ” อยู่ในคำไหนบ้าง?

1 “ปัญญาธิคุณ” แยกเป็น ปัญญา + อธิคุณ = พระคุณอันยิ่งคือปัญญา

2 “วิสุทธิคุณ” แยกเป็น วิสุทธิ + คุณ = พระคุณคือวิสุทธิ 

3 “กรุณาธิคุณ” แยกเป็น กรุณา + อธิคุณ = พระคุณอันยิ่งคือกรุณา

จะเห็นว่า “ปัญญาธิคุณ” และ “กรุณาธิคุณ” มีคำว่า “อธิคุณ” อยู่ด้วย

แต่ “วิสุทธิคุณ” ไม่มีคำว่า “อธิคุณ

มีใครเคยสังเกตหรือฉุกคิดบ้าง?

คำเรียกพระคุณทั้งสาม ดูเผิน ๆ ลงท้ายว่า “-ธิคุณ” เหมือนกัน ก็น่าจะถูกต้องแล้ว แต่เมื่อแยกศัพท์จะเห็นได้ว่า “ปัญญา” และ “กรุณา” + “อธิคุณ” 

แต่ “วิสุทธิ” + “คุณ” ไม่ใช่ “อธิคุณ

น้ำหนักของคำจึงไม่สมเสมอกัน

ถ้าจะให้สมเสมอกับอีกสองคำ คือ –

ปัญญา + อธิคุณ = ปัญญาธิคุณ

กรุณา + อธิคุณ = กรุณาธิคุณ

วิสุทธิ + อธิคุณ = ??

วิสุทธิ + อธิคุณ รูปสำเร็จจะไม่ใช่ = วิสุทธิคุณ 

แต่จะต้องเป็น วิสุทธาธิคุณ ตามสูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง

ลบสระหน้า” คือ ลบ อิ ที่ วิสุทธิ (วิสุทธิ > วิสุทธ)

ทีฆะสระหลัง” คือยืดเสียง อะ ที่ อธิคุณ เป็น อา (อธิคุณ > อาธิคุณ)

: วิสุทธิ > วิสุทธ + อธิคุณ > อาธิคุณ : วิสุทธ + อาธิคุณ = วิสุทธาธิคุณ 

คำว่า “วิสุทธาธิคุณ” ยังไม่พบว่ามีใช้ในคัมภีร์ โดยเฉพาะที่ใช้กล่าวถึงพระพุทธคุณก็ไม่มีรูปคำเช่นนี้

นั่นคือ “-ธิคุณ” ท้ายคำ “วิสุทธิคุณ” ไม่ได้มาจาก “อธิคุณ” เหมือนอีกสองคำ 

“-ธิ-” คำนั้น มาจาก “วิสุทธิ-” ไม่ได้มาจาก “อธิคุณ

นั่นคือ เราใช้คำผิดชุดกันมาจน-ผิดกำลังจะกลายเป็นถูกไปแล้ว

คำในชุดนี้ที่ถูกต้องจึงควรเป็น –

พระปัญญาคุณ” (ไม่ใช่ พระปัญญาธิคุณ) = ปัญญา + คุณ พระคุณคือปัญญา

พระวิสุทธิคุณ” = วิสุทธิ + คุณ พระคุณคือวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์หมดจด)

พระมหากรุณาคุณ” (ไม่ใช่ พระมหากรุณาธิคุณ) = มหากรุณา + คุณ พระคุณคือมหากรุณา

ถ้ายังสงสัยว่า ปัญญา- กับ กรุณา- ทำไมจึงไม่เป็น “-ธิคุณ” และจะให้เป็น “-ธิคุณ” ได้หรือไม่ ก็ขอให้ย้อนไปอ่านตั้งแต่ต้นอีกเที่ยว

…………..

ถูกต้องแล้วที่ว่า ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ

แล้วทำไมเราจึงไม่ช่วยกันสมมุติให้เป็นภาษาที่ถูกต้องดีงามเล่า

ทำไมเราจึงช่วยกันสมมุติให้ผิดกลายเป็นถูกอยู่เช่นนี้เล่า

…………..

ดูก่อนภราดา!

คำบางคำ เรื่องบางเรื่อง –

: มองผ่านไม่ผิด

: แต่มองพิศไม่ผ่าน

#บาลีวันละคำ (4,471)

8-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *