ภินบฏ (บาลีวันละคำ 4,472)
ภินบฏ
แปลว่า ผ้าขาด
อ่านว่า พิน-นะ-บด
ประกอบด้วยคำว่า ภิน + บฏ
(๑) “ภิน”
บาลีเป็น “ภินฺน” อ่านว่า พิน-นะ รากศัพท์มาจาก ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย, ตัด, แตก; ต่างกัน) + ต ปัจจัย, แปลง ทฺต (คือ ทฺ ที่ ภิทฺ และ ต ปัจจัย) เป็น นฺน
: ภิทฺ + ต = ภิทฺต > ภินฺน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถูกทำลาย”
“ภินฺน” ในบาลีเป็นคำกิริยากิตก์ และใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) แตก, ทำลาย (broken, broken up)
(2) แตกแยก, ร้าว, ไม่ลงรอยกัน (split, fallen into dissension, not agreeing)
บาลี “ภินฺน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภิน-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) อ่านว่า พิน-นะ- พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ภิน– : (คำวิเศษณ์) แตกแล้ว, ทําลายแล้ว. (ป., ส. ภินฺน).”
(๒) “บฏ” (ฏ ปฏัก สะกด)
บาลีเป็น “ปฏ” อ่านว่า ปะ-ตะ (-ฏ ฏ ปฏัก) รากศัพท์มาจาก –
(1) ปฏฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปฏ + อ = ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ไปได้” (คือทำให้ไปไหนได้สะดวก) (2) “สิ่งที่ถึงความเก่าได้”
(2) ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ฏิ (ธาตุ = ปกปิด) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ฏิ > ฏ)
: ป + ฏิ = ปฏิ + อ = ปฏิ > ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องปกปิดหิริโอตตัปปะไว้โดยทั่วไป” (2) “สิ่งที่ปกปิดอวัยวะที่น่าละอายไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏ” (ปุงลิงค์) ว่า cloth; cloak, garment (ผ้า; เสื้อคลุม, เสื้อผ้า)
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปฏ” ว่า แผ่น, ผ้า, แผ่นผ้า, เครื่องนุ่งห่ม
บาลี “ปฏ” สันสกฤตก็เป็น “ปฏ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฏ : (คำนาม) ผ้างาม; ผ้าสี; ผ้าผืน. ฯลฯ; ผ้าใบ; ผ้าเต๊นท์, ผ้ากั้นปฏมณฑป; เครื่องแต่งตัวอันเปนผ้าสี; พัสดุสำหรับมุงหลังคา, หลังคา; fine cloth; coloured cloth; a sheet of cloth, &c.; canvas; a tent-cloth, a screen of cloth surrounding a tent; a coloured garment; a thatch, a roof.”
“ปฏ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัฏ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัฏ : (คำนาม) ผืนผ้า, แผ่น เช่น หิรัญบัฏ. (ป., ส. ปฏ).”
ในที่นี้ใช้เป็น “บฏ” (ฏ ปฏัก สะกด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บฏ : (คำแบบ) (คำนาม) ผ้าทอ, ผืนผ้า; เรียกผืนผ้าที่เขียนหรือทอเป็นรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชาว่า พระบฏ. (ป. ปฏ).”
ภินฺน + ปฏ = ภินฺนปฏ (พิน-นะ-ปะ-ตะ) แปลว่า “ผ้าที่ถูกทำลาย” “ผ้าที่ถูกตัด” หมายถึง ผ้าที่ตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วเย็บต่อกันเป็นผืน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภินฺนปฏ” ว่า a torn cloth (ผ้าขาด)
บาลี “ภินฺนปฏ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ภินบฏ” (ฏ ปฏัก สะกด) อ่านว่า พิน-นะ-บด
คำว่า “ภินบฏ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
“ภินฺนปฏ” หรือผ้า “ภินบฏ” มีปฐมเหตุเกิดจากคนอนาถาไม่มีผ้าดี ๆ นุ่งห่ม ต้องเที่ยวหาผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เลือกตัดเอาเฉพาะส่วนที่เนื้อผ้ายังพอใช้สอยได้ เอามาเย็บต่อกันเข้าเป็นผืนใช้นุ่งห่ม เรียกผ้าเช่นนั้นว่า “ภินบฏ” ผู้ที่นุ่งห่มผ้าเช่นนั้นมีคำเรียกว่า “ภินฺนปฏธร” (พิน-นะ-ปะ-ตะ-ทะ-ระ) แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าที่ถูกตัด”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภินฺนปฏธร” ว่า wearing the patchwork cloth (นุ่งห่มแผ่นผ้าที่นำมาปะติดปะต่อกันเข้า)
คำว่า “ภินฺนปฏธร” ใช้เรียกภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วย เพราะเครื่องนุ่งห่มของพระ คือไตรจีวร เป็นผ้าที่ได้มาด้วยวิธีการเดียวกัน
“ภินฺนปฏธร” ถ้าจะใช้ในภาษาไทยก็สะกดเป็น “ภินบฏธร” อ่านตามหลักภาษาว่า พิน-นะ-บด-ตะ-ทอน แต่คงไม่มีใครอ่านแบบนี้ น่าจะอ่านว่า พิน-นะ-บด-ทอน เทียบกับคำว่า “วินัยธร” ซึ่งอ่านตามหลักภาษาว่า วิ-ไน-ยะ-ทอน แต่ไม่มีใครอ่าน คงอ่านกันว่า วิ-ไน-ทอน
แถม :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่ขึ้นต้นด้วย “ภิน-” ไว้ 2 คำ คือ “ภินชาติ” (พิน-นะ-ชาด) และ “ภินวรรณ” (พิน-นะ-วัน) บอกไว้ดังนี้ –
(1) ภินชาติ : (คำวิเศษณ์) ต่างชาติ, ต่างชาติชั้น. (ป., ส. ภินฺนชาติ).
(2) ภินวรรณ : (คำวิเศษณ์) เปลี่ยนสี, จาง, ตก, ซีด, (ใช้แก่สี); ต่างพวก, ต่างวรรณะ. (ส. ภินฺนวรฺณ).
ต่อไปในอนาคต ถ้าจะเก็บ “ภินบฏ” เพิ่มขึ้นอีกคำหนึ่ง ก็นับได้ว่าภาษาไทยของเรางอกงามขึ้นมา
จึงเสนอไว้ เพื่อโปรดพิจารณา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มีผ้าขาดนุ่ง ดีกว่าไม่มีผ้าจะนุ่ง
: มีศีลขาดบ้าง ดีกว่าไม่มีศีลจะขาด
– วาทะพระเทพญาณมุนี (ประเทศ กวีธโร ป.ธ.6) วัดช่องลม จังหวัดราชบุรี
#บาลีวันละคำ (4,472)
9-9-67
…………………………….
…………………………….