บาลีวันละคำ

พลังงานจลน์ – พลังงานศักย์ (บาลีวันละคำ 4,474)

พลังงานจลน์พลังงานศักย์

รู้คำบาลีก็มีพลังงาน

พลังงานจลน์” อ่านว่า พะ-ลัง-งาน-จน

พลังงานศักย์” อ่านว่า พะ-ลัง-งาน-สัก

มีคำบาลี 2 คำ คือ “จลน์” และ “ศักย์” (“ศักย์” เป็นรูปคำสันสกฤต)

(๑) “พลังงาน” 

พลัง” เป็นรูปคำบาลี “งาน” เป็นคำไทย รวมกันเป็น “พลังงาน” ถือว่าเป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พลังงาน : (คำที่ใช้ในวิทยาศาสตร์) (คำนาม) ความสามารถซึ่งมีอยู่ในตัวของสิ่งที่อาจให้แรงงานได้. (อ. energy).” 

(๒) “จลน์

เขียนแบบบาลีเป็น “จลน” อ่านว่า จะ-ละ-นะ รากศัพท์มาจาก จลฺ (ธาตุ = หวั่นไหว; เคลื่อนไหว; ไป, ถึง, บรรลุ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: จลฺ + ยุ > อน = จลน แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อนไหว” หมายถึง สั่น, สะเทือน, หวั่นไหว; ความตื่นเต้น (shaking, trembling, vibrating; excitement)

จลน” เขียนแบบไทย ใส่การันต์ที่ เป็น “จลน์” อ่านว่า จน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำที่สะกดเป็น “จลน์” คำเดียวไว้ แต่เก็บคำที่ขึ้นต้นด้วย “จลน-” ไว้ 2 คำ คือ “จลนพลศาสตร์” (อ่านว่า จะ-ละ-นะ-พน-ละ-สาด, จน-ละ-นะ-พน-ละ-สาด) และ “จลนศาสตร์” (อ่านว่า จะ-ละ-นะ-สาด, จน-ละ-นะ-สาด) บอกไว้ดังนี้ –

(1) จลนพลศาสตร์ : (คำนาม) สาขาหนึ่งของพลศาสตร์ ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เป็นของแข็ง และแรงที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่นั้นด้วย. (อ. kinetics).

(2) จลนศาสตร์ : (คำนาม) สาขาหนึ่งของพลศาสตร์ ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เป็นของแข็ง โดยไม่คํานึงถึงแรงที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่นั้น. (อ. kinematics).

คำว่า “พลังงานจลน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พลังงานจลน์ : (คำนาม) พลังงานที่มีในเทหวัตถุ เนื่องจากการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุนั้น. (อ. kinetic energy).”

(๓) “ศักย์

บาลีเป็น “สกฺย” อ่านว่า สัก-กฺยะ คำว่า –กฺย (มีจุดใต้ กฺ) ไม่ใช่ กะ-ยะ แต่ออกเสียง กฺ ครึ่งเสียง หรือจะอ่านว่า สัก-เกียะ ตรงๆ ก็จะได้เสียงที่ชัดขึ้น 

สกฺย” รากศัพท์มาจาก สกฺ (ธาตุ = อาจ, สามารถ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ญฺย >

: สกฺ + ณฺย = สกฺณฺย > สกฺย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้สามารถ” (2) “ผู้สามารถที่จะรักษาตระกูลวงศ์ไว้ได้” (3) “ผู้เกิดในศากยตระกูลซึ่งมีมาแต่เดิม” 

สกฺย” ในที่นี้หมายถึง สามารถ, เป็นไปได้ (able, possible)

บาลี “สกฺย” สันสกฤตเป็น “ศกฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศกฺย : (คำวิเศษณ์) ‘ศักย,’ อาจเปน, เปนได้; possible.”

ในภาษาไทยใช้เป็น “ศักย” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศักย– ๑ : (คำวิเศษณ์) อาจ, สามารถ. (ส.).”

คำว่า “พลังงานศักย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พลังงานศักย์ : (คำนาม) พลังงานที่มีในเทหวัตถุ เนื่องจากตําแหน่งที่อยู่ของเทหวัตถุนั้น. (อ. potential energy).”

ขยายความ :

ในคำนิยามของพจนานุกรมฯ คำว่า “จลน์” มาจากคำอังกฤษว่า kinetic คำว่า “ศักย์” มาจากคำอังกฤษว่า potential

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล kinetic ว่า จลนะ, เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเช่น kinetic theory of heat, kinetic theory of gasses หลักความเห็นว่า ความร้อนก็ดี สภาพของก๊าซก็ดี เกิดจากความเคลื่อนไหวของส่วนน้อยต่างๆ ในตัววัตถุ

และแปล potential ว่า 

1. สามารถจะเป็นได้, ความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน, ขีดแห่งความสามารถ 

2. ระดับความดันของไฟฟ้า

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้เก็บคำว่า kinetic ที่แปลเป็นบาลี แต่มีคำว่า kinematograph (น่าจะเป็นคำที่มาจากรากศัพท์เดียวกับ kinetic) แปลเป็นบาลีว่า: 

calacittadassana จลจิตฺตทสฺสน (จะ-ละ-จิด-ตะ-ทัด-สะ-นะ) = ภาพถ่ายทำที่เคลื่อนไหว (คือที่เราเรียกกันว่า “ภาพเคลื่อนไหว” ตรงข้ามกับ “ภาพนิ่ง”)

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล kinematograph ว่า ภาพยนตร์, โรงภาพยนตร์, เครื่องฉายภาพยนตร์

ส่วน potential พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีดังนี้: 

(1) sambhavanīya สมฺภวนีย (สำ-พะ-วะ-นี-ยะ) = สามารถทำให้เกิดมีขึ้นได้

(2) sakkuṇeyya สกฺกุเณยฺย (สัก-กุ-เนย-ยะ) = สามารถเป็นไปได้

(3) vidhyatthaka วิทฺยตฺถก (วิด-เทียด-ถะ-กะ) = ใช้ความรู้ทำสิ่งที่ต้องการได้

ต่อไปนี้ เวลาเห็นคำว่า “พลังงานจลน์” “พลังงานศักย์” คงจะพอเข้าใจความหมายได้ดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็รู้ว่า “จลน์” และ “ศักย์” มีความหมายว่าอย่างไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สามารถรู้จักใคร ๆ ได้หมดทั้งโลก ดีมาก

: แต่ไม่สามารถรู้จักตัวเองได้ หมดดี

#บาลีวันละคำ (4,474)

11-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *