เทหวัตถุ (บาลีวันละคำ 4,475)
เทหวัตถุ
คืออะไรใครรู้บ้าง
อ่านว่า เท-หะ-วัด-ถุ
ประกอบด้วยคำว่า เทห + วัตถุ
(๑) “เทห”
อ่านว่า เท-หะ รากศัพท์มาจาก ทิหฺ (ธาตุ = ก่อ, สั่งสม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ทิ-(หฺ) เป็น เอ (ทิหฺ > เทห)
: ทหฺ + ณ = ทิหณ > ทิห > เทห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ก่อกุศลและอกุศล” หมายถึง ร่างกาย (body)
บาลี “เทห” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทห-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “เทห์” และ “เท่ห์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“เทห-, เทห์, เท่ห์ : (คำนาม) ตัว. (ป., ส. เทห ว่า ร่างกาย).”
(๒) “วัตถุ”
เขียนแบบบาลีเป็น “วตฺถุ” อ่านว่า วัด-ถุ รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = อยู่) + รตฺถุ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (วสฺ > ว) และ ร ต้นปัจจัย (รตฺถุ > ตฺถุ)
: วสฺ > ว + รตฺถุ > ตฺถุ : ว + ตฺถุ = วตฺถุ
หรือ : วสฺ + รตฺถุ = วสฺรตฺถุ > วตฺถุ
“วตฺถุ” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้งอยู่” มีความหมายหลายอย่าง คือ :
(1) วัตถุ, ของจริง, ทรัพย์, สิ่งของ, ของที่เป็นสาระ (object, real thing, property, thing, substance)
(2) แหล่ง, ที่ตั้ง, สนาม, พื้นที่, ที่ดิน (site, ground, field, plot)
(3) มูลฐาน, รากฐาน, ฐานรองรับ, แก่นสาร, ธาตุ (basis, foundation, seat, (objective) substratum, substance, element)
(4) โอกาส, เหตุผล, พื้นฐาน (occasion for, reason, ground)
(5) เนื้อหา, รูปเรื่อง, เรื่องราว, รายงาน (subject matter, subject, story, account)
(6) ข้อ หรือกระทง (ในข้อความ) (object, item)
บาลี “วตฺถุ” สันสกฤตเป็น “วสฺตุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วสฺตุ : (คำนาม) พัสดุ, วัตถุ, สิ่ง; ภาวะหรือประกฤติ, สาระหรือมูลพัสดุ, มูล; มุขยบทแห่งกาพย์หรือนาฏก; matter, substance, thing; nature or essential property, essence or pith; the main subject of a poem or play.”
“วตฺถุ” และ “วสฺตุ” ในบาลีสันสกฤต ไทยเราเอามาใช้เป็น 3 รูป คือ “วัตถุ” (วัด-ถุ) “วัสดุ” (วัด-สะ-ดุ) และ “พัสดุ” (พัด-สะ-ดุ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำทั้ง 3 ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) วัตถุ : (คำนาม) สิ่งของ. (ป.; ส. วสฺตุ).
(2) วัสดุ : (คำนาม) วัตถุที่นํามาใช้ เช่น วัสดุก่อสร้าง; ของใช้ที่มีอายุการใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น กระดาษ ดินสอ (ใช้แก่การงบประมาณ). (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
(3) พัสดุ : (คำนาม) สิ่งของต่าง ๆ, เครื่องใช้ไม้สอย, ที่ดิน, บ้านเรือน. (ส. วสฺตุ; ป. วตฺถุ).
คำว่า “วัตถุ” ในพจนานุกรมฯ มีลูกคำอีก 4 คำ ดังนี้ –
(1) วัตถุดิบ : (คำนาม) สิ่งที่เตรียมไว้เพื่อผลิตหรือประกอบเป็นสินค้าสําเร็จรูป; โดยปริยายหมายถึงเรื่องราว ประสบการณ์ เป็นต้น ที่นักเขียนเสาะหาหรือตระเตรียมสะสมไว้เพื่อแต่งหนังสือ.
(2) วัตถุนิยม : (คำนาม) ทฤษฎีหรือความเชื่อที่ว่าวัตถุเท่านั้นมีอยู่จริง; การให้คุณค่าแก่สิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม, สสารนิยม ก็ว่า.
(3) วัตถุประสงค์ : (คำนาม) ผลที่ประสงค์ให้บรรลุ เช่น วัตถุประสงค์ของมัธยมศึกษาก็เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ คิดเป็น ทำเป็น และมีคุณธรรม, จุดประสงค์ ก็ว่า.
(4) วัตถุวิสัย : (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ โดยไม่เกี่ยวกับความคิดหรือความรู้สึก; เรียกการสอบแบบที่ผู้สอบมักไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นส่วนตัว เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบตายตัว ว่าการสอบแบบวัตถุวิสัย, ปรนัย ก็ว่า. (อ. objective).
เทห + วัตถุ = เทหวัตถุ แปลว่า “วัตถุคือร่างกาย” “วัตถุอันมีตัวตน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“เทหวัตถุ : (คำที่ใช้ในวิทยาศาสตร์) (คำนาม) ก้อนหรือชิ้นหรือส่วนหนึ่งของสสาร อาจเป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊ส ก็ได้. (อ. body).”
ขยายความ :
ตามพจนานุกรมฯ คำว่า “เทหวัตถุ” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า body
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล body เป็นบาลีดังนี้:
(คำแปลที่ให้ไว้เป็นคำแปลตามศัพท์)
(1) kāya กาย (กา-ยะ) = “ที่เกิดขึ้นของสิ่งที่น่ารังเกียจ”
(2) deha เทห (เท-หะ) = “ที่เป็นที่ก่อกุศลและอกุศล”
(3) vapu วปุ (วะ-ปุ) = “ที่เป็นที่เพาะปลูกพืชคือกุศลและอกุศล”
(4) attabhāva อตฺตภาว (อัด-ตะ-พา-วะ) = “ผู้เป็นแดนให้มีชื่อและการรู้จักว่าอัตตา”
(5) samūha สมูห (สะ-มู-หะ) = “หมู่ที่ดำรงอยู่กับส่วนย่อย”
(6) gaṇa คณ (คะ-นะ) = “ส่วนที่เขานับรวมกับส่วนอื่น”
(7) sarīra สรีร (สะ-รี-ระ) = “ร่างที่เบียดเบียนลม” (คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวก)
(8 ) gatta คตฺต (คัด-ตะ) = “ร่างที่เป็นเครื่องไปสู่กุศลหรืออกุศล”
(9) kalebara กเลพร (กะ-เล-พะ-ระ) = “ร่างที่ป้องกันจิต”
(10) tanu ตนุ (ตะ-นุ) = “ผู้แผ่ไปสู่สังสารทุกข์”
แถม :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำที่ใช้คำว่า “เทหวัตถุ” ในคำนิยาม ขอยกมาให้ดูเพื่อให้เห็นรูปประโยคและความหมายชัดขึ้นดังนี้ –
(1) จลนพลศาสตร์ : (คำนาม) สาขาหนึ่งของพลศาสตร์ ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เป็นของแข็ง และแรงที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่นั้นด้วย. (อ. kinetics).
(2) จลนศาสตร์ : (คำนาม) สาขาหนึ่งของพลศาสตร์ ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เป็นของแข็ง โดยไม่คํานึงถึงแรงที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่นั้น. (อ. kinematics).
(3) พลังงานจลน์ : (คำนาม) พลังงานที่มีในเทหวัตถุ เนื่องจากการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุนั้น. (อ. kinetic energy).
(4) พลังงานศักย์ : (คำนาม) พลังงานที่มีในเทหวัตถุ เนื่องจากตําแหน่งที่อยู่ของเทหวัตถุนั้น. (อ. potential energy).
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใช้ร่างกายทำบาป ขาดทุน
: ใช้ร่างกายทำบุญ ได้กำไร
#บาลีวันละคำ (4,475)
12-9-67
…………………………….
…………………………….