บาลีวันละคำ

โกสัมพี (บาลีวันละคำ 4,473)

โกสัมพี

ราชธานีสำคัญสมัยพุทธกาล

อ่านว่า โก-สำ-พี

เชียนแบบาลีเป็น “โกสมฺพี” อ่านว่า โก-สำ-พี รากศัพท์มาจาก –

(1) กุสมฺพ (ฤๅษีกุสัมพะ) + อี ปัจจัย, แผลง อุ ที่ กุ-(สมฺพ) เป็น โอ (กุสมฺพ > โกสมฺพ

: กุสมฺพ + อี = กุสมฺพี > โกสมฺพี แปลตามศัพท์ว่า “เมืองที่สร้างไม่ไกลจากอาศรมของฤๅษีกุสัมพะ” 

(2) กุสมฺพ (ต้นกระเบา) + อี ปัจจัย, แผลง อุ ที่ กุ-(สมฺพ) เป็น โอ (กุสมฺพ > โกสมฺพ

: กุสมฺพ + อี = กุสมฺพี > โกสมฺพี แปลตามศัพท์ว่า “เมืองที่มีต้นกระเบา” 

(3) กุสฺ (ธาตุ = ร้องเรียก) + ปัจจัย + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, แผลง อุ ที่ กุ-(สฺ) เป็น โอ (กุส > โกส), ลงนิคหิตอาคมที่ (กุ)- แล้วแปลงเป็น มฺ ( > สํ > สมฺ)

: กุสฺ + = กุสพ + อี = กุสพี > โกสพี > โกสํพี > โกสมฺพี แปลตามศัพท์ว่า “เมืองเป็นที่ผู้คนร้องเชื้อเชิญกันด้วยเสียง 10 ประการว่าเชิญกิน เชิญดื่ม เป็นต้น” (หมายถึงเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์)

ความหมายลำดับ (3) มีรูปวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ที่น่าสนใจ ขอนำคำบาลีมาเสนอไว้ด้วยดังนี้ –

: ขาทถ  ปิวถาติ  อาทีหิ  ทสหิ  สทฺเทหิ  กุสนฺติ  อวฺหายนติ  เอตฺถาติ  โกสมฺพี 

(ขาทะถะ  ปิวะถาติ  อาทีหิ  ทะสะหิ  สัทเทหิ  กุสันติ  อว์หายันติ  เอตถาติ  โกสัมพี) 

แปลยกศัพท์: 

(ชนา = อันว่าชนทั้งหลาย) 

เอตฺถ = ในเมืองนี้ 

กุสนฺติ = ย่อมเรียกกัน 

อวฺหายนติ = ย่อมเชื้อเชิญกัน 

สทฺเทหิ = ด้วยเสียงทั้งหลาย 

ทสหิ = สิบอย่าง 

-อิติ อาทีหิ = มีคำเป็นต้นว่าดังนี้ – 

(ตุมฺเห = อันว่าท่านทั้งหลาย) ขาทถ = จงเคี้ยวกินเถิด 

(ตุมฺเห =อันว่าท่านทั้งหลาย) ปิวถ = จงดื่มเถิด 

อิติ = เพราะเหตุนั้น

(ธานี = อันว่าเมือง อยํ = นี้) โกสมฺพี = จึงชื่อว่า โกสัมพี

แปลว่า “เมืองเป็นที่ผู้คนร้องเชื้อเชิญกันด้วยเสียง 10 ประการว่าเชิญกิน เชิญดื่ม เป็นต้น

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โกสัมพี” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

โกสัมพี : ชื่อนครหลวงของแคว้นวังสะ อยู่ตอนใต้ของแม่น้ำยมุนา บัดนี้เรียกว่า Kosam 

…………..

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “โกสัมพี” (อ่านเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 20:30 น.) อธิบายเรื่องเมืองโกสัมพี ไว้ดังนี้ –

…………..

โกสัมพี (ถอดจากบาลี) หรือ เกาศามพี (ถอดจากสันสกฤต) คือเมืองโบราณในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นวังสะ 1 ในมหาชนบทในสมัยพุทธกาล เมืองนี้รุ่งเรืองจากการที่เป็นชุมนุมการค้าขายในสมัยโบราณ ปัจจุบันเมืองนี้เหลือเพียงซากโบราณสถาน รูปโค้งพระจันทร์เสี้ยวริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโกสัม (Kosam) หรือหมู่บ้านหิสัมบาทตชนบท จังหวัดอัลลฮาบาต รัฐอุตตรประเทศ ของอินเดีย ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 59 กิโลเมตร เมืองนี้ได้เริ่มต้นทำการขุดค้นทางโบราณคดีโดยศาสตรจารย์ จี.อาร์.ชาร์มา แห่งมหาวิทยาลัยอัลลาหบาต ในปี พ.ศ.2492 และมีการสำรวจอีกครั้งในปี พ.ศ.2494 – พ.ศ.2499 ปัจจุบันปรากฏหลักฐานที่ได้จากการสำรวจขุดค้นเป็นที่แน่นอนแล้ว โดยยังคงมีซากกำแพงเมืองปรากฏให้เห็นอยู่ และได้ค้นพบวัดโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นวัดโฆสิตารามมหาวิหาร วัดที่สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาล ซึ่งมีการค้นพบบาตรดินโบราณ พระพุทธรูป และโบราณวัตถุจำนวนมากภายในแหล่งขุดค้นเมืองโกสัมพีแห่งนี้ โบราณวัตถุส่วนใหญ่ทางการอินเดียได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองอัลลหบาต

ความสำคัญ-ความเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ

โกสัมพีมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เป็นเมืองหลวงแห่งแคว้นที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากแคว้นหนึ่งในบรรดา 16 แคว้นของชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาลเมืองแห่งนี้มีพระเจ้าอุเทนราชาเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าระหว่างแคว้นที่สำคัญแคว้นหนึ่ง ในทีฆนิกาย มหาวรรค ระบุว่าพระอานนท์เคยทูลขอให้พระพุทธองค์ควรมาปรินิพพานที่เมืองใหญ่โกสัมพีนี้ แทนที่จะเป็นเมืองกุสินารา ที่เป็นเมืองเล็ก ในสมัยพุทธกาลเมืองแห่งนี้ปรากฏวัดในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา 4 วัด คือ โฆสิตารามมหาวิหาร, กุกกุฏารามมหาวิหาร, ปาวาริการามมหาวิหาร หรือปาวาริกัมพวัน และพัทริการามมหาวิหาร ซึ่งสร้างโดยมหาเศรษฐีแห่งโกสัมพี 3 คน คือ โฆสกเศรษฐี, กุกกุฏเศรษฐี และปาวาริกเศรษฐีตามลำดับ โดยสามวัดแรกเศรษฐีทั้งสามได้สร้างถวายพระพุทธเจ้าในคราวเดียวกัน

ตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาระบุว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับจำพรรษาที่ 9 ณ โกสัมพี และมีโอกาสเสด็จมาประทับ ณ เมืองโกสัมพีหลายครั้ง และบางครั้งได้ประทับอยู่นาน ได้ทรงแสดงพระสูตรต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบทของพระภิกษุสงฆ์หลายสิกขาบท ซึ่งรวมถึงสิกขาบทในสุราปานวรรค ข้อที่ห้ามพระดื่มสุราด้วย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่พระธรรมธรและวินัยธรแห่งโฆสิตารามมหาวิหารทะเลาะกันด้วยเรื่องการคว่ำขันน้ำในห้องน้ำ เกิดเป็นสังฆเภท (แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาตักเตือนก็ไม่ยอมกัน จึงทำให้พระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาที่ 10 ที่รักขิตวัน ในป่าปาริไลยกะ ออกพรรษาแล้วจึงเสด็จไปเมืองสาวัตถี พระที่ทะเลาะกันสำนึกผิดและคืนดีกันได้ในระหว่างพรรษา เมื่อออกพรรษาพระเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันไปเฝ้าพระพุทธองค์ที่ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี เพื่อกราบทูลขออภัยโทษ) และเรื่องพระฉันนะ (คนเดียวกับฉันนะอำมาตย์ที่พาเสด็จออกผนวช) ถูกพระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ จนสำนึกผิดและกลับใจปฏิบัติธรรมจนบรรลุพระอรหัต

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในเมืองโกสัมพีที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น เรื่องโฆสกเศรษฐี, พระพากุละ, พระปิณโฑลภารัทวาชะ, เรื่องพระเจ้าอุเทนราชากับพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยา พระนางวาสุลทัตตา เป็นต้น รวมทั้งเรื่องพระนางมาคันทิยาผูกอาฆาตพระพุทธเจ้า จ้างให้นักเลงและเดียรถีย์เหล่ามิจฉาทิฏฐิติดตามด่าพระพุทธองค์ตลอดเวลา ซึ่งเป็นต้นเหตุของพระพุทธภาษิตสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นธรรมะสอนใจดียิ่ง

…………..

แถม :

“พระพุทธภาษิตสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นธรรมะสอนใจดียิ่ง” ตอนท้ายข้อความข้างต้น น่าจะหมายถึงบทสนทนาระหว่างพระพุทธองค์กับพระอานนท์ 

เรื่องก็คือ พระอานนท์ได้ฟังคำด่าของพวกนักเลงจึงกราบทูลให้พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองอื่น พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า:-

“อานนท์ ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”

“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”

“ถ้าคนที่เมืองนั้นด่าเราอีก เราจะทำอย่างไร ?”

“ก็เสด็จไปที่เมืองอื่นต่อไปอีก พระเจ้าข้า”

“ดูก่อนอานนท์ ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะหนีกันไม่สิ้นสุด ทางที่ถูกนั้นอธิกรณ์เกิดขึ้นในที่ใด ก็ควรให้อธิกรณ์สงบระงับในที่นั้นก่อนแล้วจึงไป”

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนด่าเรา เขาได้ยินเสียงด่าก่อนเรา

เพราะฉะนั้น –

: เขาด่าเรา

: คือเขาด่าตัวเขาเอง

#บาลีวันละคำ (4,473)

10-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *