ธนาคาร (บาลีวันละคำ 638)
ธนาคาร
อ่านว่า ทะ-นา-คาน
บาลีอ่านว่า ทะ-นา-คา-ระ
ประกอบด้วย ธน + อคาร
“ธน” (ทะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า
– “สิ่งอันผู้คนออกเสียงว่าเป็นของเรา” (คือแสดงความเป็นเจ้าของด้วยความชื่นชม)
– “สิ่งยังภาวะคนจนให้เกิด” (คำแปลนี้ฟังเหมือนขัดแย้ง คือถ้ามี “ธน” ความจนก็จะไม่เกิด แต่มองในมุมกลับก็คือ “ทำให้เกิดคนจนเพราะไม่มีสิ่งนี้”)
ความหมายของ “ธน” ที่เข้าใจกันดีก็คือ เงิน, ทรัพย์สมบัติ, ทรัพย์สินเงินทอง, ความร่ำรวย
พจน.42 บอกไว้ว่า – “ธน, ธน- : ทรัพย์สิน”
“อคาร” (อะ-คา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ยึดเสาไว้ไม่ให้ไป” หมายความว่า เสา ฝา หลังคา และเครื่องประกอบต่างๆ ถูกยึดไว้ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ ที่ตรงนั้นจึงชื่อว่า “อคาร”
ภาษาบาลีเป็น “อคาร” แต่ในภาษาไทยใช้ว่า “อาคาร” พจน.42 บอกไว้ว่า –
“อาคาร : เรือน, โรง, สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สํานักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ และหมายความรวมถึงสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นตามที่กฎหมายกําหนด เช่น อัฒจันทร์ เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ป้าย อู่เรือ”
ธน + อคาร = ธนาคาร แปลตามศัพท์ว่า “โรงเรือน (เป็นที่ทำกิจเกี่ยวกับ) เงิน”
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“ธนาคาร : นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย บริษัทจํากัด หรือ บริษัทมหาชนจํากัด ที่ใช้ชื่อหรือคําแสดงชื่อว่า ธนาคาร ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินและธุรกิจหลักทรัพย์”
เป็นที่เข้าใจกันว่าคำว่า “ธนาคาร” บัญญัติเทียบคำว่า bank ในภาษาอังกฤษ
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลคำว่า bank เป็นบาลีว่า dhanāgāra “ธนาคาร” ตรงกับที่ใช้ในภาษาไทย
bank ถ้าเป็นคำกริยา แปลเป็นบาลีว่า dhanāgāre nikkhipati ธนาคาเร นิกฺขิปติ แปลว่า “ฝาก (เงิน) ไว้ในธนาคาร”
เพื่อประโยชน์แก่ท่านที่ถนัดภาษาอังกฤษแต่ไม่ถนัดบาลี และท่านที่ถนัดภาษาบาลีแต่ไม่ถนัดอังกฤษ จะได้มีกำลังใจว่า “บาลีไม่ยากอย่างที่คิด อังกฤษไม่ยากอย่างที่กลัว” ขออภินันทนาการคำแปลเกี่ยวกับ bank บางคำดังนี้ (ในวงเล็บเป็นคำแปลตามศัพท์)
– bank bill : dhanāgārapaṭiññā ธนาคารปฏิญฺญา (คำรับปากของธนาคาร)
– bank credit : dhanāgārikavaḍḍhi ธนาคาริกวฑฺฒิ (ความเจริญ ความโชคดี หรือกำไรอันเกี่ยวข้องกับธนาคาร)
– bank note : dhanapaṇṇa ธนปณฺณ (แผ่นหรือหนังสืออันมีค่าเป็นเงิน) เขียนแบบไทยเป็น “ธนบรรณ” ใกล้กับภาษาไทยที่ใช้ว่า “ธนบัตร”
– banker : dhanāgārapati ธนาคารปติ (เจ้านายหรือผู้ใหญ่ของธนาคาร) ตรงกับคำไทยที่เรียก “นายธนาคาร”
– bankrupt : (1) khīṇadhana ขีณธน (ผู้มีทรัพย์อันสิ้นไปแล้ว); (2) hatavibhava หตวิภว (ผู้มีสมบัติที่ถูกกำจัดหมดไปแล้ว) (3) iṇasodhanāsamatthataṃ pāpeti อิณโสธนาสมตฺถตํ ปาเปติ (ถึงซึ่งภาวะที่ไม่สามารถจะชำระหนี้สินได้)
– bankruptcy : (1) hatavibhavatā หตวิภวตา (สภาพที่สมบัติที่ถูกกำจัดหมดไป); (2) naṭṭhadhanatā นฏฺฐธนตา (สภาพที่ทรัพย์สินฉิบหายไปหมด)
– bankstock : dhanāgāre nihitadhana ธนาคาเร นิหิตธน (ทรัพย์สินที่ฝากไว้ในธนาคาร)
ธนาคารสำหรับคนซื่อ : ถอนจนเหลือแต่ชื่อ ก็ยังมีบุญล้นบัญชี
ธนาคารสำหรับคนโกง : แม้จะมีเงินฝากจนล้น ก็ไม่พ้นอเวจี
13-2-57