บาลีวันละคำ

ความรัก (บาลีวันละคำ 639)

ความรัก

ภาษาบาลีว่าอย่างไร

บาลีวันละคำวันนี้ขออนุญาตหมุนตามโลกด้วยการเสนอคำบาลีบางคำที่มีความหมายว่า “ความรัก

(1) “เปม” (เป-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งความรัก” “ภาวะแห่งความอิ่มเอิบ

ความหมายที่เข้าใจกันคือ ความรัก, ความเยื่อใย, ความเสน่หา

ในภาษาไทยใช้ว่า “เปรม” อ่านว่า เปฺรม (ปฺร ควบ) พจน.42 บอกไว้ว่า –

เปรม : (คำกริยา) สบาย, รื่นเริง, อิ่มใจ.(คำนาม) ความรัก, ความชอบใจ

(2) “กาม” (กา-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” “อาการที่ปรารถนา” “ภาวะอันสัตว์โลกปรารถนา” หมายถึง ความรัก, ความใคร่, ความปรารถนา; ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม; ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากความรู้สึก; ความใคร่

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

กาม, กาม-(กาม, กาม-มะ-) : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน

(3) “สิเนห” (สิ-เน-หะ) อีกรูปหนึ่งเป็น “เสฺนห” (สฺเน-หะ) แปลตามศัพท์ว่า “ยางเหนียว” หมายถึง ของเหนียว, ความชื่นเป็นน้ำมัน, น้ำหล่อเลี้ยง; ไขมัน; ความเสน่หา, ความรัก, ความเยื่อใย

ในภาษาไทยว่า พจน.42 บอกไว้ว่า –

– สิเนหะ, สิเนหา, สิเน่หา : (คำนาม) ความรัก, ความมีเยื่อใย, เช่น เขาให้สร้อยเส้นนี้แก่ฉันด้วยความสิเน่หา

– เสนห-, เสนหา, เสน่หา (สะ-เน-หะ-, สะ-เน-หา, สะ-เหฺน่-หา) : (คำนาม) ความรัก

– เสน่ห์ (สะ-เหฺน่) : (คำนาม) ลักษณะที่ชวนให้รัก เช่น เธอเป็นคนมีเสน่ห์; วิธีการทางไสยศาสตร์ที่ทำให้คนอื่นรัก เช่น เขาถูกเสน่ห์

(4) “ราค” (รา-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้กำหนัด” หมายถึง สี, สีย้อม, การทำให้เป็นสี; ความกำหนัด, ความยินดี, ความกําหนัดยินดีในกามารมณ์, ความใคร่ในกามคุณ

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

ราค-, ราคะ : (คำนาม) ความกําหนัดยินดีในกามารมณ์, ความใคร่ในกามคุณ

(5) “มทน” (มะ-ทะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การย่ำยี” “การทำให้เมา” “ผู้มัวเมาอยู่ในกามคุณห้า” หมายถึง การบด, การทําลาย; ความมึนเมา, ความมัวเมา, ความมักมากในกาม; กามเทพ

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

มัทนะ 1 (มัด-ทะ-นะ) : (คำนาม) การยํ่ายี, การบด, การทําลาย

มัทนะ 2 (มัด-ทะ-นะ) : (คำนาม) กามเทพ

ชื่อที่เราคุ้นกันดีคือ “มัทนะพาธา” (บทละครพูดคำฉันท์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) อันมีความหมายว่า ความเจ็บหรือเดือดร้อนจากความรัก ก็เป็นคำเดียวกับ “มทน” คำนี้

(6) “สิงฺคาร” (สิง-คา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “รสที่เป็นไปด้วยความรัก” หมายถึง ความรัก, ความสวยงาม

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

สิงคาร (สิง-คาน) : (คำนาม) ศฤงคาร, สิ่งให้เกิดความรัก, บริวารหญิงผู้บําเรอความรัก

ศฤงคาร (สิง-คาน, สะ-หฺริง-คาน) : (คำนาม) สิ่งให้เกิดความรัก, บริวารหญิงผู้บําเรอความรัก เช่น สาวศฤงคารคนใช้. (ม. คําหลวง ทานกัณฑ์). (ส. ศฺฤงฺคาร ว่า ความใคร่)

(7) “ฉนฺท” (ฉัน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา” หมายถึง, ความต้องการ, ความอยาก, ความประสงค์, สิ่งกระตุ้น, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความพอใจ, ความยินยอม, การมอบฉันทะ

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

ฉันท-, ฉันท์, ฉันทะ : (คำนาม) ความพอใจ, ความรักใคร่, ความชอบใจ, ความยินดี; ความร่วมความคิดความเห็นกัน เช่น ลงมติเป็นเอกฉันท์, ความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น มอบฉันทะ

(8) “เมตฺตา” (เมด-ตา) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รักใคร่” “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” “ธรรมชาติของมิตร” หมายถึง ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า –

เมตตา : (คำนาม) ความรักและเอ็นดู, ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้สุข, เป็นข้อ 1 ในพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

จะรักกันแบบไหน ก็แล้วแล้วใจจะปรารถนา เทอญ

: รักดี อย่าดีแต่รัก

14-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย