บาลีวันละคำ

จรรยาบรรณ [1] (บาลีวันละคำ 637)

จรรยาบรรณ [1]

อ่านว่า จัน-ยา-บัน

ประกอบด้วย จรรยา + บรรณ

จรรยา” บาลีเป็น “จริย” มาจากรากศัพท์ว่า จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย อีกนัยหนึ่ง จรฺ + ณฺย ปัจจัย ลบ ลง อิ อาคม = จริย และเป็น จริยา ก็มี

: จรฺ + อิย = จริย > จริยา

: จรฺ + อิ = จริ + ณฺย > = จริย > จริยา

จริย, จริยา แปลว่า “-ที่ควรประพฤติ” หมายถึง ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, การดำเนินชีวิต (conduct, behaviour, state of life)

บรรณ” บาลีเป็น “ปณฺณ” (ปัน-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ทำให้เต็ม” (คือทำให้ต้นไม้เต็มต้น) “สิ่งที่จะร่วงไปโดยไม่นาน” “สิ่งที่เขียวสด

ชั้นเดิมศัพท์นี้หมายถึง “ใบไม้” แต่ต่อมาความหมายขยายไปถึง “หนังสือ” อาจเป็นเพราะแต่เดิมมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นที่ขีดเขียนลายลักษณ์ลงไป “ปณฺณ” หรือ “บรรณ” จึงหมายถึงหนังสือไปด้วย

ความหมายที่ลงตัวแล้วของ “ปณฺณ” คือ –

1 ใบไม้ (a leaf)

2 ใบไม้ที่ใช้เขียน, ใบไม้ที่มีหนังสือจารึกอยู่, จดหมาย, ของบริจาค, เครื่องบรรณาการ (a leaf for writing upon, written leaf, letter; donation, bequest)

3 ขนนก, ปีกนก (a feather, wing)

จริยา + ปณฺณ = จริยาปณฺณ > จรรยาบรรณ แปลตามศัพท์ว่า “หนังสือแสดงสิ่งที่ควรประพฤติ

จรรยาบรรณ” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำฝรั่งว่า code of conduct

คำว่า code พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีว่า –

(1) saṃhitā สํหิตา = การรวบรวม

(2) nītikkhandha นีติกฺขนฺธ = หมวดหมู่ของข้อบังคับ

(3) sikkhāsamūha สิกฺขาสมูห = รวมข้อปฏิบัติ

อาจเป็นเพราะข้อบังคับหรือข้อปฏิบัติที่รวบรวมกันไว้นั้นมักต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร คือต้องมีฉบับ หรือมี book เป็นที่ปรากฏ ดังนั้น เมื่อพูดถึง code จึงนึกถึง book หรือ “บรรณ” เราจึงบัญญัติ code of conduct เป็นคำไทย (บาลีสันสกฤต) ว่า “จรรยาบรรณ

พจน.42 บอกไว้ว่า –

จรรยาบรรณ : ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกําหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้”

การที่ พจน.42 ต้องย้ำว่า “อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้” เนื่องจาก “บรรณ” หมายถึงหนังสือ ทำให้มีผู้เข้าใจว่า “จรรยาบรรณ” จะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

ตัวอย่าง “จรรยาบรรณ” ที่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็คือ ศีลของภิกษุในพระพุทธศาสนา เริ่มต้นด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติข้อห้าม และภิกษุทั้งหลายก็สำเหนียกศึกษาปฏิบัติตามจนกลายเป็นสำนึกที่ประทับอยู่ในใจโดยไม่ต้องจดจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร (คำสอนทั้งมวลในพระพุทธศาสนา มาจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ห้า)

: จรรยาบรรณที่จารึกไว้ในหัวใจและปฏิบัติได้เป็นประจำ

: ดีกว่าที่จารึกในสมุดทองคำ แต่ไม่มีใครจำเอาไปปฏิบัติ

12-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *