บาลีวันละคำ

ชาติปางก่อน (บาลีวันละคำ 4,487)

ชาติปางก่อน

บาลีประสมไทย

อ่านว่า ชาด-ติ-ปาง-ก่อน

ขอย้ำไว้เป็นเบื้องต้นว่า “ชาติปางก่อน” คนเก่าท่านอ่านว่า ชาด-ติ-ปาง-ก่อน 

ไม่ใช่ ชาด-ปาง-ก่อน อย่างที่คนรุ่นใหม่คงเข้าใจว่าอ่านแบบนี้

ชาติปางก่อน

อ่านว่า ชาด-ติ-ปาง-ก่อน

ไม่ใช่ ชาด-ปาง-ก่อน

ชาติ-” ในคำนี้

อ่านว่า ชาด-ติ

ไม่ใช่ ชาด เฉย ๆ

คำบาลีคือ “ชาติ” 

ปางก่อน” เป็นคำไทย

(๑) “ชาติ

บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ :

แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

แบบที่ 2 แปลง “” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช) > อา (> + อา) = ชา + ติ = ชาติ

ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,

(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.

(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.

(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.

(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.

(7) ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่.

(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.

ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

(๒) “ปางก่อน

อ่านว่า ปาง-ก่อน เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ปางก่อน” ไว้ แต่เก็บคำว่า “ปาง” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ปาง ๑ : (คำนาม) ครั้ง, คราว, เมื่อ, เช่น ปางก่อน ปางหลัง, ยุค, สมัย, เช่น นารายณ์ ๑๐ ปาง; ท่าของพระพุทธรูปที่แสดงถึงอิริยาบถต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูปปางห้ามญาติ; ที่พักกลางป่าชั่วคราว เช่น ตั้งปาง.

(2) ปาง ๒ : (คำวิเศษณ์) แทบ, เกือบ, จวน, เช่น ปางตาย ว่า จวนตาย.

เป็นอันว่า แม้พจนานุกรมฯ จะไม่ได้เก็บคำว่า “ปางก่อน” ไว้ แต่ก็มีใช้อยู่ในคำนิยาม คือที่บอกว่า “ครั้ง, คราว, เมื่อ, เช่น ปางก่อน ปางหลัง”

ปางก่อน” จึงหมายถึง ครั้งก่อน, คราวก่อน, เมื่อก่อน

คำบาลีที่มีความหมายตรงกับ “ปางก่อน” คือ “ปุพฺพ” อ่านว่า ปุบ-พะ รากศัพท์มาจาก ปุพฺพ (ธาตุ = เต็ม) + (อะ) ปัจจัย

: ปุพฺพ + = ปุพฺพ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)

…………..

คำที่มี “ปุพฺพ” ประสมอยู่ด้วยในบาลีที่ควรรู้ เช่น –

ภูตปุพฺพํ (พู-ตะ-ปุบ-พัง) = เคยมีมาก่อน (before any beings)

ปุพฺพการี (ปุบ-พะ-กา-รี) = “ทำก่อน” คือ บุพการี, ผู้ดูแล, ผู้เอื้อเฟื้อ, ผู้ทำประโยชน์ (“doing before,” i. e. looking after, obliging, doing a favour)

ปุพฺพปุริส (ปุบ-พะ-ปุ-ริ-สะ) = บรรพบุรุษ (ancestor)

…………..

ชาติ + ปางก่อน = ชาติปางก่อน (ชาด-ติ-ปาง-ก่อน) แปลว่า “การเกิดในครั้งก่อน” “การเกิดในคราวก่อน” หรืออาจแปลสั้น ๆ ว่า “ชาติก่อน

ขยายความ :

คำบาลีที่มีหมายถึง “ชาติปางก่อน” หรือ “ชาติก่อน” ที่เราน่าจะคุ้นกันในภาษาไทยมี 2 คำ คือคำว่า “บุพเพนิวาส” กับ “บุพเพสันนิวาส

รูปคำคล้ายกัน แต่ความหมายต่างกัน

บุพเพนิวาส” หมายถึง “ชีวิตในชาติก่อน” ใช้ในคำว่า “บุพเพนิวาสานุสติ” หรือ “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” หมายถึง ปัญญาญาณที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม (หรือเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง) ทำให้สามารถรู้ได้ว่า ในชาติก่อนตนได้เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้าง ตลอดจนรู้รายละเอียดของชีวิตในชาตินั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร คือที่เรียกว่า การระลึกชาติได้ (reminiscence of past lives, remembrance of former existences) นั่นเอง

ส่วน “บุพเพสันนิวาส” หมายถึง “การอยู่ร่วมกันในชาติก่อน” หมายถึงเคยเป็นพ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง เพื่อน ผัว เมีย ฯลฯ กันมาในชาติก่อน เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมาเป็นเช่นนั้นกันอีกในชาตินี้ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยากรวยชาติเดียวได้เป็นนายทุน 

จงใช้บุญเป็นอุบายแสวงทรัพย์

: อยากรวยตลอดแสนกัป 

จงใช้ทรัพย์เป็นเครื่องมือแสวงบุญ

#บาลีวันละคำ (4,487)

24-9-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *