สาธารณภัย (บาลีวันละคำ 4,488)
สาธารณภัย
ไม่ต้องใส่สระ อะ กลางคำ
อ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ-ไพ
ประกอบด้วยคำว่า สาธารณ + ภัย
(๑) “สาธารณ”
บาลีอ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สห (คำบุรพบทและอุปสรรค = พร้อม, กับ, พร้อมด้วย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สห เป็น ส, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ)
: สห + อา + ธรฺ = สหาธรฺ + ยุ > อน = สหาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป”
(2) สม (เสมอกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สม เป็น ส, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ)
: สม + อา + ธรฺ = สมาธรฺ + ยุ > อน = สมาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่อันบุคคลรับรองสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน”
“สาธารณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทั่วไป, ธรรมดา, ร่วมกัน (general, common, joint)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาธารณ-, สาธารณะ : (คำวิเศษณ์) เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ อย่าแต่งตัวประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะ. (ป., ส.).”
(๒) “ภัย”
เขียนแบบบาลีเป็น “ภย” อ่านว่า พะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี (ที่ ภี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)
“ภย” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “ภัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”
ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous
สาธารณ + ภย = สาธารณภย > สาธารณภัย แปลตามศัพท์ว่า “ภัยทั่วไป”
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “สาธารณภัย” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“สาธารณภัย : (คำนาม) ภัยที่เกิดแก่คนหมู่มากอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม เช่น หน่วยบรรเทาสาธารณภัย; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีมาเป็นสาธารณะ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็น –
“สาธารณภัย : (คำนาม) ภัยที่เกิดแก่คนหมู่มากอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม เช่น หน่วยบรรเทาสาธารณภัย.”
นั่นคือ ตัดความหมายตามที่ใช้ในกฎหมายออกทั้งหมด คงไว้แต่ความหมายทั่วไป
ถ้าเราสามารถรู้ได้ว่า คณะกรรมการตรวจชำระพจนานุกรมมีเหตุผลอะไรจึงตัดความหมายตามที่ใช้ในกฎหมายออก เราก็จะได้ความรู้เพิ่มขึ้น
คำว่า “สาธารณภัย” มักมีผู้เขียนเป็น “สาธารณะภัย” คือใส่สระ อะ หลัง -ณ เรื่องจากคำว่า “สาธารณ” เมื่อใช้โดด ๆ สะกดเป็น “สาธารณะ” ครั้นมีคำว่า “ภัย” มาสมาสข้างท้าย ก็เข้าใจไปว่าสะกดเป็น “สาธารณะ” ได้เหมือนเดิม จึงเขียนเป็น “สาธารณะภัย”
โปรดทราบและช่วยกันจำไว้ว่า “สาธารณะภัย” เขียนแบบนี้ผิดหลักภาษา
หลักภาษากำหนดว่า คำ 2 คำที่มาสมาสกัน ถ้าคำหน้ามีเสียง อะ อยู่ท้ายคำ เช่น สาธารณะ ธุระ ไม่ต้องใส่สระ อะ หรือต้องตัดสระ อะ ออก เรียกเป็นภาษาวิชาการว่า ไม่ต้องประวิสรรชนีย์กลางคำ เช่น –
ธุระ + กิจ = ธุรกิจ
ไม่ใช่ ธุระกิจ
กัปปิยะ + ภัณฑ์ = กัปปิยภัณฑ์
ไม่ใช่ กัปปิยะภัณฑ์
มาฆะ + บูชา = มาฆบูชา
ไม่ใช่ มาฆะบูชา
วิสาขะ + บูชา = วิสาขบูชา
ไม่ใช่ วิสาขะบูชา
วาทะ + กรรม = วาทกรรม
ไม่ใช่ วาทะกรรม
อริยะ + ทรัพย์ = อริยทรัพย์
ไม่ใช่ อริยะทรัพย์
สาธารณะ + ภัย = สาธารณภัย
ไม่ใช่ สาธารณะภัย
หลักภาษาดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องลึกลับรู้ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องลับห้ามเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องปิดบังห้ามเปิดเผย ตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย เรียนรู้ได้ง่าย บอกกล่าวให้รู้กันอยู่ทั่วไป สามารถเรียนรู้ได้ทุกคน
มหาภัยที่กำลังครอบงำสังคมไทยอยู่ในเวลานี้-ทั้งสังคมชาวบ้านและสังคมชาววัด-คือ การไม่ใส่ใจและไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาเรียนรู้หลักภาษา หลักวิชา และเรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นสมบัติวัฒนธรรมของตนเอง พร้อม ๆ ไปกับการเห็นว่า การเขียนผิด พูดผิด ทำผิดในเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงภัยดังว่านี้ อนาคตหายนะแน่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สมาสกันด้วยสติ สนธิกันด้วยปัญญา – สังคมพิลาศ
: สมาสกันด้วยอคติ สนธิกันด้วยตัณหา – สังคมพินาศ
#บาลีวันละคำ (4,488)
25-9-67
…………………………….
…………………………….