อมนุษย์ (บาลีวันละคำ 4,491)
อมนุษย์
ไม่น่ากลัวเท่าเดนมนุษย์
อ่านว่า อะ-มะ-นุด
“อมนุษย์” แยกศัพท์เป็น อ + มนุษย์
(๑) “อ”
บาลีอ่านว่า อะ (ไม่ใช่ ออ) รูปคำเดิมคือ “น” อ่านว่า นะ (ไม่ใช่ นอ) เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “น ไม่ โน ไม่ มา อย่า ว เทียว” (น [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, ว [วะ] = เทียว)
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
กฎการประสมของ น + คือ :
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ–
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ (อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ) แปลง น เป็น อน–
ในที่นี้ คำหลังคือ “มนุษย์” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ม– จึงต้องแปลง น เป็น อ–
(๒) “มนุษย์”
เขียนแบบบาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง)
: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย
: มน + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”
(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก)
: มนุ + อุสฺส = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”
คำว่า “มนู” หรือนิยมเรียกว่า “พระมนู” แปลว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ของสัตวโลก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนู : (คำนาม) ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี ๑๔ องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้ เช่น มนูกิจ. (ส. มนุ).”
บาลี “มนุสฺส” สันสกฤตเป็น “มนุษฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”
ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”
ความหมายของคำว่า “มนุสฺส – มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”
น + มนุสฺส แปลง น เป็น อ
: น + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส (อะ-มะ-นุด-สะ) แปลว่า “ผู้ไม่ใช่มนุษย์”
“อมนุสฺส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อมนุษย์” (อะ-มะ-นุด)
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อมนุษย์ : (คำนาม) ผู้ที่มิใช่มนุษย์ (หมายรวมทั้ง เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ภูตผีปิศาจ เป็นต้น) แต่โดยมากหมายถึง ภูตผีปิศาจ. (ส.; ป. อมนุสฺส).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
อมนุษย์ : ผู้มิใช่มนุษย์, ไม่ใช่คน, มักหมายถึงสัตว์ในภพที่มีฤทธิ์มีอำนาจน่ากลัว อย่างที่คนไทยเรียกว่าพวกภูตผีปีศาจ แต่ในภาษาบาลี หมายถึงยักษ์หรือเปรต บ่อยครั้งหมายถึงเทวดา บางทีหมายถึงท้าวสักกะ คือพระอินทร์ (เช่น ชา.อ.๑๐/๑๓๔)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อมนุษย์จริง ๆ ไม่น่ากลัว
: คนที่เป็นมนุษย์แต่ตัวนี่สิน่าเกรง
#บาลีวันละคำ (4,491)
28-9-67
…………………………….
…………………………….