บาลีวันละคำ

รเถสภะ (บาลีวันละคำ 4,492)

รเถสภะ

พจนานุกรมฯ เก็บไว้ทั้งที่น่าจะไม่มีใครรู้จักคำนี้

อ่านว่า ระ-เถ-สะ-พะ

รเถสภะ” เขียนแบบบาลีเป็น “รเถสภ” อ่านว่า ระ-เถ-สะ-พะ แยกศัพท์เดิมเป็น รถ + อุสภ 

(๑) “รถ

บาลีอ่านว่า ระ-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รมฺ (ธาตุ = เล่น) + ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > )

: รมฺ + = รมถ > รถ แปลตามศัพท์ว่า “ยานที่ยังให้เกิดสุขารมณ์ ความสนุกเพลิดเพลิน ความดีใจ” แรกที่มนุษย์ประดิษฐ์รถขึ้นมาน่าจะเพื่อการเล่นสนุก นักภาษาจึงให้ความหมายเช่นนี้ ต่อมาจึงใช้รถเพื่อการอื่นๆ เช่นการเดินทาง การขนส่ง และการรบ

(2) รหฺ (ธาตุ = ยึดถือ) + ปัจจัย, ลบ หฺ ที่สุดธาตุ (รหฺ > )

: รหฺ + = รหถ > รถ แปลตามศัพท์ว่า “ยานอันเขายึดเป็นเจ้าของ

รถ” (ปุงลิงค์) ความหมายเดิม คือ รถมี 2 ล้อ, รถแข่งหรือรถออกศึก (a two-wheeled carriage, chariot [for riding, driving or fighting]) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

รถ, รถ– : (คำนาม) ยานที่มีล้อสำหรับเคลื่อนไป เช่น รถม้า รถยนต์ รถไฟ; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย ทั้งนี้เว้นแต่รถไฟ. (ป.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น – 

รถ, รถ– : (คำนาม) ยานที่มีล้อสำหรับเคลื่อนไป เช่น รถม้า รถยนต์ รถไฟ. (ป.).”

(๒) “อุสภ” 

อ่านว่า อุ-สะ-พะ รากศัพท์มาจาก อุสฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + ปัจจัย 

: อุสฺ + = อุสภ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ทำให้ศัตรูเร่าร้อน” หมายถึง โคตัวผู้ (a bull) ซึ่งมักใช้เป็นเครื่องหมายของความเป็นเพศผู้และพละกำลัง = คนที่แข็งแรงมาก เป็นที่ครั่นคร้ามของคู่ต่อสู้

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “อุสภ ๑” บอกคำอ่านว่า อุ-สบ บอกความหมายไว้ว่า –

อุสภ ๑ : (คำนาม) วัวผู้ (เป็นเครื่องหมายแสดงความสามารถของบุรุษผู้นักรบ), เขียนเป็น อุสุภ ก็มี. (ป.; ส. ฤษภ, วฺฤษฺภ).”

การประสมคำ :

รถ + อุสภ น่าจะเป็น “รถูสภ” แต่ทำไมจึงเป็น “รเถสภ”?

มีคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความหมายของคำว่า “รเถสโภ” ในพระไตรปิฎกไว้ ขอยกมาให้แสดงในที่นี้ 2 แห่ง ดังนี้ –

…………..

รเถสโภติ  มหารเถสุ  ขตฺติเยสุ  อกมฺปิยฏฺเฐน  อุสภสทิโส  ฯ 

คำว่า  รเถสโภ  หมายความว่า เสมือนโคอุสภะ เพราะไม่ครั่นคร้ามกษัตริย์ทั้งหลายผู้เป็นมหารถ (มีพลรถมากมาย)

ที่มา: ปรมัตถโชติกา อรรถกถาสุตตนิบาต (พราหมณธัมมิกสูตร) ภาค 2 หน้า 181

รเถสโภติ  รเถสุ  อุสภสทิโส  มหารโถติ  อตฺโถ  ฯ

คำว่า  รเถสโภ  หมายความว่า เป็นมหารถ คือผู้องอาจอยู่บนรถเสมือนโคอุสภะ 

ที่มา: ปรมัตถทีปนี อรรถกถาเปตวัตถุ หน้า 224

…………..

คำว่า “รถ” อรรถกถาแสดงรูปศัพท์เป็น “มหารเถสุ” และ “รเถสุ” คือ “รถ” แจกด้วยสัตตมีวิภัตติ พหุวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “รเถสุ” 

จึงเท่ากับ รเถสุ + อุสภ แต่ศัพท์ “รเถสโภ” เป็นเอกวจนะ ความหมายจริง ๆ คือ “ผู้แกล้วกล้าคนหนึ่งที่อยู่บนรถ” เมื่อเป็นผู้แกล้วกล้าคนเดียวก็ต้องอยู่บนรถคันเดียว “รถ” จึงเป็น “รเถ” หมายถึง “บนรถคันหนึ่ง

ดังนั้น จึงเท่ากับ รเถ + อุสภ ใช้วิธีสมาสแบบ “อลุตสมาส” คือไม่ลบวิภัตติ “รเถ” จึงคงเป็น “รเถ” และลบสระหลัง คือ “อุ” ที่ “อุสภ” (อุสภ > สภ) หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็ได้ว่า เอ + อุ = เอ

: รถ > รเถสุ > รเถ + อุสภ = รเถอุสภ > รเถสภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้องอาจดุจโคอุสภะบนรถ” เป็นคำเรียกกษัตริย์หรือนักรบผู้กล้าหาญ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รเถสภ” lord of charioteers (นายสารถีผู้ยิ่งใหญ่, จอมสารถี) 

หมายเหตุ : วิธีแปลงรูปศัพท์ตามที่อธิบายนี้เป็นการอนุโลมตามรูปศัพท์ในคำอธิบายของอรรถกถา หากนักเรียนบาลีท่านใดมีหลักฐานทางไวยากรณ์บาลีที่ท่านแสดงไว้เป็นอย่างอื่น กรุณานำมาแสดงไว้ด้วยก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกัน

ขยายความ :

บาลี “รเถสภ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ด้วย สะกดเป็น “รเถสภะ” บอกไว้ดังนี้ – 

รเถสภะ : (คำนาม) กษัตริย์ผู้องอาจบนรถรบ, จอมพลรถรบ. (ป.).”

น่าสังเกตว่า คำว่า “รเถสภะ” เป็นคำที่แทบจะไม่มีใครใช้หรือมีใครรู้จักในภาษาไทย แต่พจนานุกรมฯ ก็ยังอุตส่าห์เก็บไว้ ในขณะที่คำเก่าหลายคำที่ยังมีพูดมีใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่พจนานุกรมฯ กลับไม่เก็บไว้ ที่นึกได้คำหนึ่งและเคยเอ่ยถึงมาบ้างแล้วคือคำว่า “ธรรมสวนะ” ซึ่งหมายถึงการฟังธรรม หรือวันฟังธรรม คือวันพระ

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนจำพวกไหนเอ่ย?

: ทำความดีขี้ขลาด

: องอาจในการทำชั่ว

#บาลีวันละคำ (4,492)

29-9-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *