บาลีวันละคำ

ธรรมชาติ-ชาติธรรม (บาลีวันละคำ 4,490)

ธรรมชาติ-ชาติธรรม

เล่นคำ แต่ไม่ใช่เอาคำมาทำเป็นเล่น

“ธรรมชาติ” อ่านว่า ทำ-มะ-ชาด

“ชาติธรรม” อ่านว่า ชา-ติ-ทำ

ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ “ธรรม” และ “ชาติ”

(๑) “ธรรม”

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม

: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”

“ธมฺม – ธรรม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

ธรรม” คำง่าย ๆ เหมือนหญ้าปากคอก แต่แปลทับศัพท์กันจนแทบจะไม่ได้นึกถึงความหมายที่แท้จริง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

(๒) “ชาติ”

บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย

กระบวนการทางไวยากรณ์ :

แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ

แบบที่ 2 แปลง “น” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ

“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –

(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,

(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.

(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.

(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.

(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.

(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.

(7) ชนิด, จำพวก, ชั้น, หมู่.

(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.

ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และข้อ (8 )

ธมฺม + ชาติ = ธมฺมชาติ ในภาษาบาลีมีความหมายเท่ากับ “ธมฺม” คำเดียว (แบบเดียวกับความหมายในข้อ (8 ) ของภาษาไทย)

“ธมฺมชาติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมชาติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ธรรมชาติ : (คำนาม) สิ่งที่เกิดมีและเป็นอยู่ตามธรรมดาของสิ่งนั้น ๆ, ภาพภูมิประเทศ. (คำวิเศษณ์) ที่เป็นไปเองโดยมิได้ปรุงแต่ง เช่น สีธรรมชาติ.”

๒ ชาติ + ธมฺม = ชาติธมฺม (ชา-ติ-ทำ-มะ) แปลว่า “มีความเกิดเป็นธรรมดา” (destined to be born)

บาลี “ชาติธมฺม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ชาติธรรม” อ่านว่า ชา-ติ-ทำ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ชาติธรรม : (คำวิเศษณ์) มีความเกิดเป็นธรรมดา. (ป. ชาติธมฺม).”

ขยายความ :

คำว่า “ธรรมชาติ” เราใช้คำอังกฤษว่า nature

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล nature เป็นบาลีว่า –

(1) pakati ปกติ (ปะ-กะ-ติ) = ปกติ, เป็นไปตามเคย

(2) dhammatā ธมฺมตา (ทำ-มะ-ตา) = ธรรมดา, เรื่องที่ต้องเป็นไปเช่นนั้นเอง

(3) sabhāva สภาว (สะ-พา-วะ) = “ความเป็นของตน”, ความเป็นเองตามธรรมดาหรือตามธรรมชาติ, สภาพ

(4) lokanimmāna โลกนิมฺมาน (โล-กะ-นิม-มา-นะ) = สิ่งอันธรรมดาสร้างไว้ประจำโลก

คำว่า “ชาติธรรม” เราอาจไม่คุ้นในภาษาไทย แต่ในบาลีคำนี้อยู่ในชุดเดียวกับคำว่า –

ชราธมฺม (ชะ-รา-ทำ-มะ) > ชราธรรม (ชะ-รา-ทำ) = มีความแก่เป็นธรรมดา

พฺยาธิธมฺม (เพีย-ทิ-ทำ-มะ) > พยาธิธรรม (พะ-ยา-ทิ-ทำ) = มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา

มรณธมฺม (มะ-ระ-นะ-ทำ-มะ) > มรณธรรม (มะ-ระ-นะ-ทำ) = มีความตายเป็นธรรมดา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ชราธรรม” และ “มรณธรรม” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

(1) ชราธรรม : (คำวิเศษณ์) มีชราเป็นธรรมดา, มีความแก่ความชํารุดทรุดโทรมเป็นธรรมดา.

(2) มรณธรรม : (คำวิเศษณ์) มีความตายเป็นธรรมดา. (ป.).

ส่วนคำว่า “พยาธิธรรม” พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บไว้ (คำเหล่านี้มาด้วยกันเป็นชุด คำอื่น ๆ เก็บไว้ แต่คำนี้ไม่ได้เก็บ นับว่าชอบกลอยู่)

แถม :

คำในชุด “ชราธมฺม” บาลียังมีต่อไปอีกคำหนึ่ง คือ “โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสธมฺม” (โสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสะธัมมะ)

ถ้าแยกเป็นคำ ๆ ก็จะได้ดังนี้ –

โสกธมฺม (โส-กะ-ทำ-มะ) > โสกธรรม (โส-กะ-ทำ) = มีความโศกเป็นธรรมดา

ปริเทวธมฺม (ปะ-ริ-เท-วะ-ทำ-มะ) > ปริเทวธรรม (ปะ-ริ-เท-วะ-ทำ) = มีความคร่ำครวญเป็นธรรมดา

ทุกฺขธมฺม (ทุก-ขะ-ทำ-มะ) > ทุกขธรรม (ทุก-ขะ-ทำ) = มีความทุกข์กายเป็นธรรมดา

โทมนสฺสธมฺม (โท-มะ-นัด-สะ-ทำ-มะ) > โทมนัสสธรรม (โท-มะ-นัด-สะ-ทำ) = มีความทุกข์ใจเป็นธรรมดา

อุปายาสธมฺม (อุ-ปา-ยา-สะ-ทำ-มะ) > อุปายาสธรรม (อุ-ปา-ยา-สะ-ทำ) = มีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้คำ ระวังให้ชอบกล

: ใช้คน ระวังให้ชอบการ

#บาลีวันละคำ (4,490)

27-9-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *