บาลีวันละคำ

กริยา – กิริยา (บาลีวันละคำ 4,497)

กริยากิริยา

ใช้ต่างกันอย่างไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง พูดถึงคนมีลักษณะท่าทางอย่างนั้นอย่างนี้ ทำนั่นทำนี่ ท่านใช้คำว่า “กริยาอาการ” อ่านแล้วก็เห็นว่าควรเอามาเขียนเป็นบาลีวันละคำอีก

“เอามาเขียนเป็นบาลีวันละคำอีก” แปลว่าเรื่องนี้เคยเขียนมาแล้ว

มีคำ 2 คำในภาษาไทย ที่มีปัญหา คือ “กริยา” และ “กิริยา

ปัญหาคือ ในที่เช่นไรใช้ “กริยา” และในที่เช่นไรใช้ “กิริยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำทั้ง 2 ไว้ดังนี้ – 

(1) กริยา : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คําที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม. (ส. กฺริยา; ป. กิริยา).

(2) กิริยา : (คำนาม) การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท เช่น กิริยานอบน้อม กิริยาทราม. (ป.).

สังเกตสักหน่อยก็จะจับหลักได้ นั่นคือ “กริยา” เป็นคำที่ใช้ในไวยากรณ์ ตรงกับคำอังกฤษว่า verb คือคำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม

ถ้าหมายถึง การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาทางกาย ต้องใช้ “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา

กริยา” คือ verb

กิริยา” คือ action

ที่ใช้ผิดกันบ่อย ๆ ก็คือ ต้องใช้ “กิริยา” แต่ไปใช้เป็น “กริยา

กิริยามารยาท” ไม่ใช่ “กริยามารยาท”

“ปฏิกิริยา” ไม่ใช่ “ปฏิกริยา

กิริยาอาการ” ไม่ใช่ “กริยาอาการ”

จับหลักง่าย ๆ ว่า –

กริยา” หมายถึงคำที่ใช้ในไวยากรณ์ คือ verb 

อื่นจากนี้ใช้ว่า “กิริยา” ทั้งสิ้น

กริยา” คือ verb

กิริยา” คือ action

พจนานุกรมฯ บอกว่า “กริยา” เป็นคำสันสกฤต “กิริยา” เป็นคำบาลี

ในบาลี “กิริยา” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ, ลง อิ อาคม ที่ , ลบ ณฺ ที่ ญฺย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: กรฺ > กิร + อิ = กิริ + ณฺย = กิริณฺย > กิริย + อา = กิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิริยา” ไว้ดังนี้ –

(1) action, performance, deed; the doing=fulfilment (การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป = การบรรลุ)

(2) an act in a special sense=promise, vow, dedication, intention, pledge; justice (การกระทำในความหมายพิเศษ = การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม)

(3) philosophically: action ineffective as to result, non-causative, an action which ends in itself (เชิงปรัชญา: การกระทำอันไม่มีผลหรือไม่เกิดอะไรขึ้น, การกระทำที่จบลงในตัวของมันเอง)

ส่วน “กริยา” ในสันสกฤตเป็น “กฺริยา” (มีจุดใต้ กฺ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

กฺริยา : (คำนาม) กริยา, การ, การกระทำ; อุบาย; ต้น, อาทิ, การตั้งขึ้น, การริเริ่มหรือลองทำดูที; การสเดาะเคราะห์หรือบรรเทาโทษ; การศึกษา; การบูชาหรือนมัสยา; วิจาร; กายกรรม; การวางยาบำบัดโรค, การรักษาพยาบาล; เครื่องมือ; อุตตรการย์หรืองารมโหรศพ; ศานติกริยา, เช่นสนานหรือการชำระกาย, ฯลฯ; การไต่สวนของศาล; กริยา (คำแสดงความกระทำ); กริยานาม; a act, action, acting; means; expedient; beginning or undertaking; atonement; expiation; study; worship; disquisition; bodily action; physical treatment, remedying; instrument; implement; obsequies, funeral rites; purificatory rites, as ablution, &c.; judicial investigation; a verb; a noun of action or verbal noun.”

ความจริงในบาลีก็มีรูปศัพท์ “กฺริยา” รากศัพท์เดียวกับ “กิริยา” แต่มีใช้น้อย 

ข้อควรทราบ :

(1) “กิริยา” กับ “กริยา” แม้จะมาจากรากศัพท์เดียวกัน แต่ในภาษาไทยใช้ต่างกัน

กิริยา (ก มีสระ อิ) = การกระทำทั่วไป; อาการที่แสดงออกมาทางกาย

กริยา (ก ไม่มีสระ อิ) = คำแสดงอาการหรือบอกการกระทำของนามหรือสรรพนามในไวยากรณ์ เช่น “คนกินข้าว” (“คน” เป็น ประธาน, “กิน” เป็น กริยา, “ข้าว” เป็น กรรม)

(2) ถ้าไม่เกี่ยวกับภาษาในไวยากรณ์ดังกล่าวข้างต้น ใช้ว่า “กิริยา” ทั้งหมด ไม่ใช่ “ริยา”

(3) เฉพาะตำราบาลีไวยากรณ์โดยทั่วไปและที่เรียนกันในเมืองไทย คําแสดงอาการของนามหรือสรรพนาม ใช้ “กิริยา” ไม่ใช้ “กริยา” อย่างไวยากรณ์ไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ

: บุญบาปของมนุษย์เป็นเรื่องจริง

#บาลีวันละคำ (4,497)

4-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *