ยมบุรุษ (บาลีวันละคำ 4,498)
ยมบุรุษ
เจ้ากรรมนายเวรตัวจริง
อ่านว่า ยม-มะ-บุ-หฺรุด
ประกอบด้วยคำว่า ยม + บุรุษ
(๑) “ยม”
บาลีอ่านว่า ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก ยมฺ (ธาตุ = ระวัง, เลี้ยงดู, ปรนปรือ) + อ (อะ) ปัจจัย
: ยมฺ + อ = ยม แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้คอยระวังเหล่าสัตว์” คือใครทำกรรมอย่างไร ควรไปเสวยผลในภพภูมิไหน ก็นำไปส่งยังภพภูมินั้น เหมือนคนดูแลสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในที่ในทาง
(2) “ผู้ปรนปรือ” คือคอยรับใช้มัจจุราชด้วยการนำคนถึงที่ตายไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยม” ว่า the ruler of the kingdom of the dead (ผู้ปกครองอาณาจักรแห่งคนตาย)
สรุปว่า “ยม” หมายถึง ความตาย หรือโลกแห่งความตาย (death, world of the dead) ไม่ใช่นรกหรือสวรรค์โดยเฉพาะ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยม ๒, ยม– : (คำนาม) เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ประจำโลกของคนตาย; ชื่อดาวเคราะห์แคระในระบบสุริยะ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ห่างดวงอาทิตย์ประมาณ ๕,๙๐๐ ล้านกิโลเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง ๒,๕๘๐ ถึง ๓,๕๓๐ กิโลเมตร ทางโคจรเป็นวงรีมาก ทำให้ส่วนหนึ่งของทางโคจรอยู่ภายในวงโคจรของดาวเนปจูน, ดาวพลูโต ก็เรียก. (ป., ส.).”
(๒) “บุรุษ”
บาลีเป็น “ปุริส” อ่านว่า ปุ-ริ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุรฺ (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย
: ปุรฺ + อิส = ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม”
(2) ปุ ( = นรก) + ริสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปุ + ริสฺ = ปุริสฺ + อ = ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ”
(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อี ที่ สี (สี > ส)
: ปุริ + สี = ปุริสี + อ = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า
(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างบทหน้ากับธาตุ (ปุร + อิ + สี), ลบสระหน้า คือ อี ที่ สี (สี > ส)
: ปุร + อิ + สี = ปุริสี + อ = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า
(5) ป ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างบทหน้ากับธาตุ (ป + อุร = ปุร + อิ + สี), ลบสระหน้า คือ อี ที่ สี (สี > ส)
: ป + อุร = ปุร + อิ + สี = ปุริสี + อ = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ”
“ปุริส” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) ผู้ชาย (คือเพศที่ต่างจากผู้หญิง) (man [as representative of the male sex, contrasted to woman])
(2) มนุษย์, คน (คือสิ่งมีชีวิตที่ต่างจากสัตว์และอมนุษย์อื่น ๆ (a man, a human, a human being)
เป็นอันว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้
บาลี “ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปุรุษ” และ “ปุรูษ” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปุรุษ, ปุรูษ : (คำนาม) ‘บุรุษ,’ นร (ทั่วไปหรือเอกชน), ชาย, มนุษยชาติ; อาตมัน; พระเจ้า, พระปรเมศวร; พระวิษณุ; พระพรหม; ชีวิต; อณู; ผู้ศึกษาสานขยตัตววิทยา; สหาย; พระเมรุบรรพต; a man (generally or individually), a male, mankind; the soul; God; the Supreme Being; Vishnu; Brahmâ; life; an atom; a follower of the Śânkhya philosophy; a friend; the mountain Meru.”
“ปุริส” ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุรุษ, บุรุษ– : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (ไว) น. คำสรรพนามบอกผู้พูด เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๑, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๒, คำสรรพนามบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า สรรพนามบุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).”
ยม + ปุริส = ยมปุริส (ยะ-มะ-ปุ-ริ-สะ) แปลว่า “บุรุษของพระยม” = เจ้าหน้าที่ของพระยม
“ยมปุริส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ยมบุรุษ” อ่านว่า ยม-มะ-บุ-หฺรุด
คำว่า “ยมบุรุษ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำที่ขึ้นต้นด้วย ยม- ไว้ 6 คำ คือ ยมขันธ์ ยมทัณฑ์ ยมทูต ยมบาล ยมราช ยมโลก
ไม่มีคำว่า “ยมบุรุษ”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “ยมบุรุษ” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
ยมบุรุษ : คนของพญายม (บาลี: ยมปุริส), ผู้ทำหน้าที่ลงโทษสัตว์นรก, นิรยบาล, บางทีใช้เชิงบุคลาธิษฐาน หมายถึงสภาวะที่เตือนให้นึกถึงความตายเพื่อจะได้ไม่ประมาททำความดีเตรียมไว้ เช่น ความแก่หง่อม (ขุ.ธ.๒๕/๒๘/๔๖); ดู ยมทูต
…………..
ที่คำว่า “ยมทูต” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
…………..
ยมทูต : ทูตของพญายม, สื่อแจ้งข่าวของความตาย หรือสภาวะที่เตือนให้นึกถึงความตายเพื่อจะได้ไม่ประมาททำความดีเตรียมไว้ เช่น ความแก่หง่อม (ธ.อ.๗/๔)
…………..
ย้ำ: คำว่า “ยมบุรุษ” อ่านว่า ยม-มะ-บุ-หฺรุด
ไม่ใช่ ยม-บุ-หฺรุด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยมบุรุษไม่ใช่คน
: ติดสินบนไม่ได้-นะจ๊ะ
———————
ภาพประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (4,498)
5-10-67
…………………………….
…………………………….