บาลีวันละคำ

มี “ใบ” ไม่ต้องมี “บัตร” (บาลีวันละคำ 4,496)

มี “ใบ” ไม่ต้องมี “บัตร

มี “บัตร” ก็ไม่ต้องมี “ใบ”

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านเขียนว่า “ใบอนุโมทนาบัตร” อ่านแล้วก็เห็นว่าควรเอามาเขียนเป็นบาลีวันละคำอีก

“เอามาเขียนเป็นบาลีวันละคำอีก” แปลว่าเรื่องนี้เคยเขียนมาแล้ว

มี “ใบ” ไม่ต้องมี “บัตร” หมายความว่า คำที่ใช้คำว่า “บัตร” ลงท้าย เช่น อนุโมทนาบัตร มรณบัตร ปวารณาบัตร ประกาศนียบัตร ไม่ต้องมีคำว่า “ใบ” ใส่เข้าไปข้างหน้าอีก คือไม่ต้องใช้ว่า ใบอนุโมทนาบัตร ใบมรณบัตร ใบปวารณาบัตร ใบประกาศนียบัตร

และในทางกลับกัน ถ้าใช้คำว่า “ใบ” นำหน้าแล้วก็ไม่ต้องมีคำว่า “บัตร” ลงท้ายอีก คือใช้ว่า “ใบอนุโมทนา” “ใบมรณะ” “ใบปวารณา” แค่นี้ (เฉพาะ “ประกาศนียบัตร” เมื่อใช้คำว่า “ใบ” นำหน้า มักเรียกตัดลงมาเป็น “ใบประกาศ” แต่เป็นลักษณะภาษาปาก ไม่ใช่คำที่ใช้เป็นทางการ)

เหตุผลที่-มี “ใบ” ไม่ต้องมี “บัตร” ก็เพราะคำว่า “ใบ” แปลว่า “บัตร” อยู่แล้ว และคำว่า “บัตร” ก็หมายถึง “ใบ” อยู่แล้ว

ขยายความ :

คำว่า “บัตร” บาลีเป็น “ปตฺต” อ่านว่า ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” 

ปตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)

(2) ใบไม้ (a leaf)

(3) แผ่นโลหะบาง ๆ เล็ก ๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)

บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร

คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(๑) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ 

(๒) ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย 

(๓) ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร 

(๔) ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). 

คำว่า “ใบ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(๑) ส่วนของพืชที่ติดอยู่กับกิ่งหรือลำต้น โดยมากมีลักษณะเป็นแผ่นแบน ๆ รูปร่างต่าง ๆ กัน มีก้านใบหรือไม่มีก็ได้ มักมีสีเขียว

(๒) สิ่งที่ทำด้วยผืนผ้าเป็นต้น สำหรับขึงที่เสากระโดงเพื่อรับลม

(๓) แผ่นเอกสารหรือหนังสือสำคัญต่าง ๆ เช่น ใบขับขี่ ใบทะเบียน

(๔) เรียกของที่เป็นแผ่น ๆ เช่น ใบหนังสือ ใบมีด ใบหู ทองใบ

(๕) ลักษณนามสำหรับใช้เรียกผลไม้ ภาชนะ เครื่องใช้บางอย่าง หรือแผ่นเอกสาร เช่น มะม่วง ๒ ใบ ถ้วย ๓ ใบ ตู้ ๔ ใบ ใบขับขี่ ๕ ใบ.

…………..

จำไว้สั้น ๆ ว่า “มีบัตรไม่ต้องมีใบ มีใบไม่ต้องมีบัตร” 

เช่น “อนุโมทนา” –

ถ้าอยากจะใช้คำว่า “ใบ” ก็ใช้ว่า “ใบอนุโมทนา”

ถ้าอยากจะใช้คำว่า “บัตร” ก็ใช้ว่า “อนุโมทนาบัตร

อย่าอัดกันเข้าไปทั้ง “ใบ” ทั้ง “บัตร

อย่าช่วยกันสมมุติผิดให้กลายเป็นถูก

อย่าเห็นว่าผิดไม่เป็นผิด

และอย่าเห็นว่าแม้ผิดก็ไม่เป็นโทษเป็นภัย เป็นเรื่องเล็ก ไม่ต้องแก้ไขอะไร ปล่อยให้คงเป็นผิดอยู่อย่างนั้นก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครมาเอาผิดหรือลงโทษอะไรได้

เห็นผิดไม่เป็นโทษเป็นภัยได้เรื่องหนึ่ง ต่อไปก็จะเห็นอย่างนั้นได้ทุกเรื่อง และสามารถทำผิดได้ทุกเรื่องโดยไม่เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย

นั่นคือหายนะ ทั้งแก่ส่วนตัวบุคคล และแก่ส่วนรวม จนถึงชาติบ้านเมืองเป็นที่สุด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่รู้ น่าเห็นใจ

: รู้แล้วไม่แก้ไข น่าสลดใจ

#บาลีวันละคำ (4,496)

3-10-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *