บริสุทธิ์ (บาลีวันละคำ 1,013)
บริสุทธิ์
อ่านว่า บอ-ริ-สุด
บาลีเป็น “ปริสุทฺธิ” อ่านว่า ปะ-ริ-สุด-ทิ
ประกอบด้วย ปริ + สุทฺธิ
“ปริ” (ปะ-ริ) เป็นคำอุปสรรค แปลว่า รอบ, เวียนรอบ, ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด
“สุทฺธิ” (สุด-ทิ) รากศัพท์มาจาก สุธฺ (ธาตุ = สะอาด) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ
: สุธฺ > สุ + ติ > ทฺธิ = สุทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสะอาด”
ปริ + สุทฺธิ = ปริสุทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะเป็นเหตุหมดจดรอบด้านจากมลทินมีราคะเป็นต้นแห่งสัตว์โลก” หมายถึง ความบริสุทธิ์, การทำให้บริสุทธิ์, ความแท้จริง, คุณลักษณะที่เชื่อได้แน่นอน (purity, purification, genuineness, sterling quality)
“ปริสุทฺธิ” ใช้ในภาษาไทยว่า “บริสุทธิ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บริสุทธิ์” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) (คำวิเศษณ์) แท้, ไม่มีอะไรเจือปน, เช่น ทองบริสุทธิ์,
(2) ปราศจากมลทิน, ปราศจากความผิด, เช่น เป็นผู้บริสุทธิ์,
(3) หมดจดไม่มีตําหนิ เช่น เพชรบริสุทธิ์ เครื่องแก้วบริสุทธิ์;
(4) เรียกสาวพรหมจารีว่า สาวบริสุทธิ์.
(5) (คำนาม) แร่ชนิดหนึ่ง คือตะกั่วที่ใช้ผสมเป็นนวโลหะ.
พุทธภาษิต :
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ
อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
ตัวทำชั่วเอง
ตัวก็สกปรกเอง
อตฺตนา อกตํ ปาปํ
อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
ตัวไม่ได้ทำชั่ว
ตัวก็บริสุทธิ์เอง
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
บริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ รู้อยู่แก่ใจตัว
นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย.
สังคมออกใบรับรองความบริสุทธิ์ให้กันไม่ได้
—–
ที่มา: อัตตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๓
(สำนวนแปลของผู้เขียนบาลีวันละคำ)
25-2-58