บาลีวันละคำ

โพชฌงค์ (บาลีวันละคำ 1,590)

โพชฌงค์

อ่านว่า โพด-ชง

แยกศัพท์เป็น โพชฌ + องค์

(๑) “โพชฌ” บาลีเป็น “โพชฺฌ” (โพด-ชะ) รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้, ตื่น, เบ่งบาน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), แปลง ที่ (พุ)-ธฺ กับ เป็น ชฺฌ, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)

: พุธฺ + ณฺย = พุธณฺย > พุธย > พุชฺฌ > โพชฺฌ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรู้แจ้ง” “เครื่องรู้แจ้ง” หมายถึง ปัญญาเครื่องตรัสรู้, การตรัสรู้, การบรรลุธรรม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โพชฺฌ” ว่า a matter to be known or understood, subject of knowledge or understanding (เรื่องที่จะต้องรู้หรือต้องเข้าใจ, ธรรมอันเป็นที่รู้หรือเข้าใจ)

(๒) “องค์” บาลีเป็น “องฺค” (อัง-คะ) รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

โพชฺฌ + องฺค = โพชฺฌงฺค > โพชฌงค์ แปลว่า ธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

โพชฌงค์ : ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี ๗ ข้อ คือ ๑. สติ ๒ง ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา.”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แสดงรายละเอียดของ “โพชฌงค์” ไว้ดังนี้ –

(ภาษาอังกฤษในวงเล็บ [] เป็นคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบ)

[281] โพชฌงค์ 7 (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — Bojjhaŋga: enlightenment factors) [a factor or constituent of knowledge or wisdom]

1. สติ (ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง — Sati: mindfulness) [mindfulness]

2. ธัมมวิจยะ (ความเฟ้นธรรม, ความสอดส่องสืบค้นธรรม — Dhammavicaya: truth investigation) [investigation of the Law]

3. วิริยะ (ความเพียร — Viriya: effort; energy) [energy]

4. ปีติ (ความอิ่มใจ — Pīti: zest; rapture) [rapture]

5. ปัสสัทธิ (ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ — Passaddhi: tranquillity; calmness) [repose]

6. สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์ — Samādhi: concentration) [concentration]

7. อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง — Upekkhā: equanimity) [equanimity]

แต่ละข้อเรียกเต็ม มี สัมโพชฌงค์ ต่อท้ายเป็น สติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น.

………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โพชฌงค์ : (คำนาม) องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ; ชื่อพระปริตรที่พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟัง เรียกว่า สวดโพชฌงค์. (ป.).”

………..

การที่นิยมให้พระสงฆ์สวด “โพชฌงค์” ให้คนเจ็บหนักฟังก็เพราะในตำนานของโพชฌงคปริตรแสดงเรื่องราวไว้ว่า บางสมัย พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกบางองค์อาพาธ เมื่อได้สดับการสวดโพชฌงคปริตร อาพาธหรือการเจ็บป่วยนั้นก็บรรเทาหายไป จึงเกิดเป็นความนิยมให้พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟังสืบต่อมา

โพชฌงค์” หรือโพชฌงคปริตรที่นิยมสวดกันนั้น ตัวหลักธรรมจริงๆ มีระบุไว้ในท่อนต้นของพระปริตร ส่วนตั้งแต่ท่อนที่ ๒ ไปเป็นการสรุปเหตุการณ์ที่มีการสวดโพชฌงคปริตรและผลที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งการตั้งความปรารถนาดีต่อผู้ที่ได้สดับ

เพื่อกระตุ้นเตือนญาติมิตรให้มีกำลังใจเจริญองค์ธรรมเครื่องรู้แจ้งให้งอกงามขึ้นในใจ และเจริญศรัทธา ขอนำบท “โพชฌงคปริตร” มาเสนอไว้ ณ ที่นี้

………………….

โพชฌงคปริตร

………………….

(๑) โพชฌังโค สะติสังขาโต..ธัมมานัง วิจะโย ตะถา

วิริยัมปีติ ปัสสัทธิ……………….โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร.

โพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา..สัตเตเต สัพพะทัสสินา

มุนินา สัมมะทักขาตา……ภาวิตา พะหุลีกะตา.

สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๗ ประการเหล่านี้

เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้าผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว

สังวัตตันติ อะภิญญายะ…นิพพานายะ จะ โพธิยา

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ…..โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา.

อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

(๒) เอกัสมิง สะมะเย นาโถ..โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง

คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา……….โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ.

ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้าทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะอาพาธ ได้รับความลำบาก จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง

เต จะ ตัง อะภินันทิตวา..โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ….โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา.

ท่านทั้งสองนั้นชื่นชมยินดียิ่งซึ่งโพชฌังคธรรม โรคก็หายได้ในบัดดล

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

(๓) เอกะทา ธัมมะราชาปิ…เคลัญเญนาภิปีฬิโต

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ……ภะณาเปตวานะ สาทะรัง.

ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเองทรงประชวรเป็นไข้หนัก รับสั่งให้พระจุนทะเถระสวดโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ

สัมโมทิตวา จะ อาพาธา..ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ…..โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา.

ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ

(๔) ปะหีนา เต จะ อาพาธา…ติณณันนัมปิ มะเหสินัง

มัคคาหะตะกิเลสาวะ…………ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ……….โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา.

ก็อาพาธทั้งหลายของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งสามองค์นั้นหายแล้วไม่กลับเป็นอีก ดุจดังกิเลสถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา

ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้  ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ

………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าปรารถนาให้โรคภัยหายไปได้ดังใจจง

: ก็พึงระวังอย่าให้โพชฌงค์หายไปจากหัวใจ เทอญ

11-10-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย