อุทกภัย (บาลีวันละคำ 4,499)
อุทกภัย
พิสูจน์ว่าหัวใจไทยไม่เคยแห้งแล้ง
อ่านว่า อุ-ทก-กะ-ไพ
ประกอบด้วยคำว่า อุทก + ภัย
(๑) “อุทก”
บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก, ชุ่ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลบสระที่สุดธาตุ (อุทิ > อุท)
: อุทิ + ณฺวุ = อุทิณฺวุ > อุทิก > อุทก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)
(๒) “ภัย”
บาลีเป็น “ภย” อ่านว่า พะ-ยะ รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี (ที่ ภี) เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย
: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)
บาลี “ภย” สันสกฤตก็เป็น “ภย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภย : (คำวิเศษณ์) อันน่ากลัว; frightful; dreadful. – (คำนาม) ‘ภย. ภัย,’ ความกลัว; อันตราย; fear; danger or peril.”
“ภย” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “ภัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”
ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous
อุทก + ภย = อุทกภย (อุ-ทะ-กะ-พะ-ยะ) แปลว่า “ภัยที่เกิดจากน้ำ”
“อุทกภย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุทกภัย” (อุ-ทก-กะ-ไพ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อุทกภัย” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“อุทกภัย : (คำนาม) ภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม. (ป., ส. อุทก + ภย).”
ขยายความ :
ผู้เขียนบาลีวันละคำตรวจดูบาลีวันละคำที่เขียนมาแล้วเกือบ 4,500 คำ ปรากฏว่าไม่มีคำว่า “อุทกภัย” นั่นคือยังไม่ได้เขียนคำนี้
เมื่อเขียนคำว่า “อุทกภัย” ได้ตรวจดูในคัมภีร์เพื่อจะดูว่า บาลีมีคำว่า “อุทกภย” (อุ-ทะ-กะ-พะ-ยะ) หรือไม่ ก็พบว่าในคัมภีร์มหานิทเทสได้กล่าวถึง “ภัย” ไว้หลายอย่าง นับได้ถึง 19 ชื่อ จึงขอนำชื่อภัยและความหมายย่อ ๆ มาเสนอไว้ในที่นี้เป็นความรู้
นักเรียนบาลีท่านใดมีอุตสาหะ ช่วยหาความหมายและคำอธิบายโดยละเอียดนำมาบอกกล่าวสู่กันฟัง ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง นี่คืองานโดยตรงของนักเรียนบาลี
ชื่อภัยทั้ง 19 อย่าง มีดังนี้ –
…………..
(1) ชาติภยํ = ภัยแต่การเกิด คือเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น
(2) ชราภยํ = ภัยแต่ความแก่ชรา
(3) พฺยาธิภยํ = ภัยแต่ความเจ็บป่วย
(4) มรณภยํ = ภัยแต่ความตาย
(5) ราชภยํ = ภัยแต่ผู้ปกครองบ้านเมืองเบียดเบียนบีบคั้นข่มเหง
(6) โจรภยํ = ภัยแต่โจรผู้ร้าย
(7) อคฺคิภยํ = ภัยแต่ไฟ
(8 ) อุทกภยํ = ภัยแต่น้ำ คือน้ำท่วม การขาดน้ำก็น่าจะนับว่าเป็นอุทกภัยแบบหนึ่ง
(9) อตฺตานุวาทภยํ = ภัยแต่ความติเตียนตน คือทำชั่ว เกิดความละอายแก่ใจตนเอง จนนึกติเตียนตัวเอง
(10) ปรานุวาทภยํ = ภัยแต่ความติเตียนของผู้อื่น คือทำชั่วจนชาวบ้านติเตียน
(11) ทณฺฑภยํ = ภัยแต่การถูกลงโทษเพราะละเมิดกฎหมายบ้านเมือง
(12) ทุคฺคติภยํ = ภัยแต่การทำบาปเป็นเหตุให้เกิดในทุคติภูมิ
(13) อูมิภยํ = ภัยแต่คลื่น หมายถึง อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความขึ้งเคียดคับใจ เบื่อหน่ายคำตักเตือนพร่ำสอน
(14) กุมฺภิลภยํ = ภัยแต่จระเข้ หมายถึง เห็นแก่ปากแก่ท้อง ถูกจำกัดด้วยระเบียบวินัยเกี่ยวกับการบริโภค ทนไม่ได้
(15) อาวฏฺฏภยํ = ภัยแต่น้ำวน หมายถึง ห่วงพะวงใฝ่ทะยานในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้
(16) สสสุการภยํ = ภัยแต่ปลาร้าย หมายถึง เกิดความปรารถนาทางเพศที่ผิดศีลผิดธรรม
(17) อาชีวิกภยํ = ภัยแต่การหาเลี้ยงชีพ
(18) อสิโลกภยํ = ภัยแต่การถูกตำหนิทั้งที่ไม่ได้ทำผิด
(19) ปริสาย สารชฺชภยํ = ภัยแต่ความครั่นคร้ามในที่ประชุมชน เนื่องจากปกปิดความชั่วของตัวเองไว้เกรงคนจะเปิดโปง
ที่มา: มหานิทฺเทส ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 740
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยังเกิดอยู่ตราบใด
: ยังต้องผจญภัยอยู่ตราบนั้น
#บาลีวันละคำ (4,499)
6-10-67
…………………………….
…………………………….