บาลีวันละคำ

อภิวัฒน์ – อภิวัตน์ (บาลีวันละคำ 4,500)

อภิวัฒน์อภิวัตน์

คำที่ใช้วัดความสังเกต

ส่วนที่เหมือนกัน คือ “อภิ

ส่วนที่ต่างกัน คือ “วัฒน์” และ “วัตน์

(๑) “อภิ” 

เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(๒) “วัฒน์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “วฑฺฒน” อ่านว่า วัด-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก วฑฺฒฺ (ธาตุ = เจริญ, เพิ่มขึ้น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) 

: วฑฺฒฺ + ยุ > อน = วฑฺฒน แปลตามศัพท์ว่า “การเจริญ” หมายถึง การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป (increasing, augmenting, fostering; increase, enlargement, prolongation) ความหมายที่เราคุ้นกันก็คือ “ความเจริญ

วฑฺฒน” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยม ใช้เป็น “วัฒน-” (วัด-ทะ-นะ-, มีคำอื่นสมาสท้าย) “วัฒนะ” (วัด-ทะ-นะ, อยู่ท้ายคำ) และเปลี่ยนรูปเป็น “วัฒนา” (วัด-ทะ-นา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

(1) วัฒน-, วัฒนะ : (คำนาม) ความเจริญ, ความงอกงาม. (ป. วฑฺฒน).

(2) วัฒนา : (คำนาม) ความเจริญ, ความงอกงาม. (คำกริยา) เจริญ, งอกงาม.

(๓) “วัตน์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “วตฺตน” อ่านว่า วัด-ตะ-นะ รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = เป็นไป; หมุนไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วตฺตฺ + ยุ > อน = วตฺตน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความเป็นไป” (2) “การหมุนไป” หมายถึง การเคลื่อนไป, การบำรุงรักษาไว้, ความเป็นอยู่, การดำเนินต่อไป (moving on, upkeep, existence, continuance)

วตฺตน” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยม ใช้เป็น “วัตนะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วัตนะ : (คำนาม) ความเป็นไป, ความเป็นอยู่. (ป. วตฺตน; ส. วรฺตน).”

ขยายความ :

อภิ + วฑฺฒน = อภิวฑฺฒน (อะ-พิ-วัด-ทะ-นะ) ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “อภิวัฒน์” อ่านวา อะ-พิ-วัด แปลว่า “ความเจริญอย่างยิ่ง

อภิ + วตฺตน = อภิวตฺตน (อะ-พิ-วัด-ตะ-นะ) ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “อภิวัตน์” อ่านวา อะ-พิ-วัด แปลว่า “ความเป็นไปอย่างยิ่ง” “ความแพร่หลายไป

คำว่า “อภิวัฒน์” และ “อภิวัตน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

คำว่า “อภิวัฒน์” และ “อภิวัตน์” รูปลักษณ์ตัวอักษร คือ ผู้เฒ่า กับ เต่า คล้ายกัน มองเผิน ๆ อาจจะเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกัน 

คำที่เราคุ้นมาแต่เดิมคือ “วัฒนะ” และ “วัฒนา” ที่หมายถึงความเจริญ “วัฒ-” ฒ ผู้เฒ่า 

ส่วน “วัตน์” และ “อภิวัตน์” ที่หมายถึงความเป็นไป, ความแพร่หลายไป “วัต-” ต เต่า เราไม่คุ้น

เมื่อมีคำอังกฤษว่า globalization เข้ามาใช้กัน เราศัพท์บัญญัติศัพท์เป็นคำไทยว่า “โลกาภิวัตน์” (“-วัต-” ต เต่า) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “โลกาภิวัตน์” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

โลกาภิวัตน์ : (คำนาม) การแพร่กระจายไปทั่วโลก; การที่ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใด สามารถรับรู้ สัมพันธ์ หรือรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ซึ่งเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศเป็นต้น. (ป. โลก + อภิวตฺตน; อ. globalization).”

โลกาภิวัตน์” (“-วัต-” ต เต่า) เป็นคำที่เราไม่คุ้น เราคุ้นแต่ “วัฒนะ” “วัฒนา” ซึ่งเป็น “วัฒ-” ฒ ผู้เฒ่า แรก ๆ มีผู้สะกด “โลกาภิวัตน์” (“-วัต-” ต เต่า) เป็น “โลกาภิวัฒน์” (“-วัฒ-” ฒ ผู้เฒ่า) กันทั่วไป 

กว่าจะรู้สึกตัวและสะกดกันถูกต้องก็ใช้เวลานานพอสมควร

แต่เชื่อว่า แม้จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนสะกดคำนี้เป็น “โลกาภิวัฒน์” (“วัฒ-” ฒ ผู้เฒ่า) กันอยู่ไม่น้อย

เช่นเดียวกับคำว่า “อานิสงส์” (-สงส์ ส เสือ การันต์) เรารู้สึกตัวและสะกดถูกกันทั่วไปมานานแล้ว แต่วันนี้ก็ยังมีคนสะกดเป็น “อานิสงค์” (-สงค์ ค ควาย การันต์) ให้เห็นอยู่ เพราะเราคุ้นกับ –สงค์ ค ควาย การันต์ อย่างคำว่า “ประสงค์” เป็นต้น 

เห็นคำว่า -สง เป็นต้อง ค ควาย การันต์ทันทีฉันใด

เห็นคำว่า -วัต- ก็เป็นต้องนึกว่า ฒ ผู้เฒ่า สะกดทันทีฉันนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด –

: แต่ถ้าฝึกตนให้คนช่างสังเกต

: ภัยพิษจากเหตุก็จะเกิดน้อยลง

#บาลีวันละคำ (4,500)

7-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *