กาลี (บาลีวันละคำ 4,502)
กาลี
คำจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คน
อ่านตรงตัวว่า กา-ลี
“กาลี” เป็นรูปคำบาลี สันนิษฐานว่ามีที่มา 3 ทาง คือ –
(1) มาจากคำว่า “กลิ” แล้วกลายรูปเป็น “กาลี”
(2) มาจาก กาล + อี ปัจจัย
(3) มาจาก กาฬ + อี ปัจจัย, แปลง ฬ เป็น ล
…………..
(1) มาจากคำว่า “กลิ”
“กลิ” อ่านว่า กะ-ลิ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + อิ ปัจจัย
: กลฺ + อิ = กลิ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะอันเขานับ” หมายถึง โทษ, ความชั่ว, บาป, ความปราชัย, ความพ่ายแพ้
“กลิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ลูกสกาที่อับโชค (the unlucky die)
(2) การทอดลูกสกาที่อับโชค, โชคร้าย, ข้อเสีย, บาป (an unlucky throw at dice, bad luck, demerit, sin)
(3) ยุคสุดท้ายในยุคทั้ง 4 ของโลก (the last of the 4 ages of the world).
(4) บาป, คนบาป (sinful, a sinner)
(5) น้ำลาย, ฟอง [น้ำลายที่ปาก] (saliva, spittle, froth)
“กลิ” ทีฆะ อิ เป็น อี เป็น “กลี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) กลี : (คำนาม) สิ่งร้าย, โทษ; เรียกโรคห่าที่เป็นแก่สัตว์เลี้ยงเช่นเป็ด ไก่ วัว ควาย; ด้านของลูกสกาที่มีแต้มเดียว คือมีแต่ทางแพ้; ชื่อผีร้ายหรือผีการพนันตามคติของพราหมณ์. (คำวิเศษณ์) ชั่วร้าย, ไม่เป็นมงคล, มักใช้ว่า กาลี. (ป., ส. กลิ).
“กลี” กลายรูปและเสียงเป็น “กาลี”
…………..
(2) กาล + อี ปัจจัย
(ก) “กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(๑) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(๒) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาล ๑, กาล– : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).”
ในภาษาบาลี “กาล” ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ “ความตาย” ในความหมายนี้ “กาล” แปลตามศัพท์ว่า “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” “ทำตามเวลา” (เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำสิ่งนั้น หรือเมื่อถึงเวลา สิ่งนั้นก็มาทำหน้าที่)
(ข) กาล + อี = กาลี แปลว่า “ผู้มีกาลเวลา” “ผู้มีอำนาจเสมือนกาลเวลา” “ผู้ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง ความตาย
…………..
(3) กาฬ + อี ปัจจัย, แปลง ฬ เป็น ล
(ก) “กาฬ” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) กิรฺ (ธาตุ = กระจาย, เรี่ยราย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ กิ-(รฺ) เป็น อะ แล้วทีฆะ อะ เป็น อา (กิรฺ > กร > การ), แปลง ร เป็น ฬ
: กิรฺ + ณ = กิรณ > กิร > กร > การ > กาฬ แปลตามศัพท์ว่า “ปักษ์ที่กระจายความสว่างไป” (คือทำให้ความสว่างจางไปหรือหมดไป) หมายถึง กาฬปักษ์ คือข้างแรม
(2) กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล), แปลง ลฺ เป็น ฬ
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล > กาฬ แปลตามศัพท์ว่า “สีอันเขานับไว้เป็นส่วนหนึ่งในบรรดาสีทั้งหลาย” หมายถึง สีดำ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กาฬ” ไว้ดังนี้ –
(1) dark, black, blueblack, misty, cloudy. (มืด, ดำ, น้ำเงินแกมดำ, มัว, มืดมัว)
(2) the dark as opposed to light, and it is therefore characteristic of all phenomena or beings belonging to the realm of darkness, as the night, the new moon, death, ghosts, etc. (ความมืด ในฐานตรงข้ามกับความสว่าง จึงเป็นลักษณะของปรากฏการณ์หรือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในขอบเขตของความมืดมน เช่น กลางคืน, พระจันทร์ข้างขึ้นอ่อนๆ, ความตาย, ปิศาจ ฯลฯ)
(3) the morning mist, or darkness preceding light, daybreak, morning. (หมอกตอนเช้า หรือความมืดก่อนจะมีแสงสว่าง, เวลารุ่งแจ้ง, ตอนเช้า)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาฬ, กาฬ– : (คำนาม) รอยดําหรือแดงที่ผุดตามร่างกายคนเมื่อตายแล้ว. (คำวิเศษณ์) ดํา, มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส. (ป.).”
(ข) กาฬ + อี ปัจจัย, แปลง ฬ เป็น ล
: กาฬ + อี = กาฬี > กาลี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีสีดำ” “ผู้มีร่างกายดำ”
…………..
“กาลี” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) กาลี ๑ : (คำวิเศษณ์) ชั่วร้าย, เสนียดจัญไร. (ส. กลิ).
(2) กาลี ๒ : (คำนาม) ชื่อหนึ่งของพระอุมา ชายาพระอิศวร เรียกว่า เจ้าแม่กาลี, ปรกติสร้างรูปเป็นหญิงผิวดำ (ส. กาลี ว่า หญิงดำ), และว่ามีอำนาจเสมือน กาล (เวลา) ที่ไม่มีผู้ใดเอาชนะได้. (ส.).
แถม :
ในคัมภีร์บาลี คำว่า “กาลี” นิยมใช้เป็นชื่อสตรี แต่มักเป็นชื่อสตรีที่มีหน้าที่รับใช้ แสดงว่า คำว่า “กาลี” ไม่ใช่คำที่มีความหมายชั่วร้ายแต่ประการใด มิเช่นนั้นคงไม่เอามาใช้เป็นชื่อคน
สันนิษฐานว่า เมื่อชาวอริยกะ (ชนผิวขาว) รุกเข้ามาครอบครองชมพูทวีป มีอำนาจเหนือชาวมิลักขะ (ชนผิวดำ) เจ้าถิ่น ทำให้ชาวมิลักขะต้องเป็นผู้รับใช้ ชาวอริยกะคงจะเรียกสตรีชาวมิลักขะซึ่งเป็นผู้รับใช้ในบ้านว่า “กาลี” ในความหมายว่า หญิงผิวดำ แปลเป็นไทยอย่างสุภาพว่า “คุณดำ” แปลอย่างหยาบว่า “นางดำ” หรือ “อีดำ” นานเข้าคำว่า “กาลี” จึงเป็นคำเรียกหญิงรับใช้ทั่วไป และนิยมใช้เป็นชื่อหญิงรับใช้ไปในที่สุด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คำจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คน
: คนจะดีหรือไม่ดีไม่ได้อยู่ที่คำ
แต่อยู่ที่การกระทำของตน
#บาลีวันละคำ (4,502)
9-10-67
…………………………….
…………………………….