ยโส ไม่ใช่ ยะโส (บาลีวันละคำ 4,503)
ยโส ไม่ใช่ ยะโส
ไม่ต้องทำโก้ด้วยสระ อะ นะจ๊ะ
คำว่า “ยโส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยโส : (คำกริยา) เย่อหยิ่งเพราะถือตัวว่ามียศ มีปัญญา มีความรู้ มีกำลัง มีทรัพย์ ฯลฯ.”
โปรดสังเกตว่า คำนี้พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “ยโส” ย– ไม่มีสระ อะ
“ยโส” ไม่ใช่ ยะโส
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ยโส” เป็นภาษาอะไรหรือมาจากภาษาอะไร
ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่ได้ตรวจสอบว่า มีผู้หนึ่งผู้ใดอธิบายหรือบอกที่มาไว้อย่างไรบ้างหรือยัง แต่ขอสันนิษฐานว่า “ยโส” ตัดมาจากคำว่า “ยโสธร”
“ยโสธร” บาลีอ่านว่า ยะ-โส-ทะ-ระ คำเดิมประกอบขึ้นจาก ยส + ธร
(๑) “ยส”
อ่านว่า ยะ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ช เป็น ส
: ยชฺ + อ = ยช > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา”
(2) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ยา เป็น อะ (ยา > ย)
: ยา + ส = ยาส > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทุกแห่ง” (ยศมีทั่วไปหมดทุกสังคม)
(3) ยสุ (ธาตุ = พยายาม) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระ อุ ที่สุดธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) (ยสุ > ยส)
: ยสุ + อ = ยสุ > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” ขยายความว่า “มีผู้ยกย่องหรือแวดล้อมด้วยเหตุอันใด ก็พยายามทำเหตุอันนั้น”
“ยส” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความรุ่งเรือง, ชื่อเสียง, กิตติศัพท์, ความสำเร็จ, ยศหรือตำแหน่งสูง (glory, fame, repute, success, high position)
“ยส” (ส เสือ) ภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “ยศ” (ศ ศาลา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยศ : (คำนาม) ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. (คำวิเศษณ์) ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ. (ส.; ป. ยส)”
(๒) “ธร”
บาลีอ่านว่า ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย
: ธรฺ + อ = ธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธร : (คำนาม) การยึดไว้, การถือไว้, การทรงไว้, การมีไว้; ผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น วิชาธร วินัยธร. (ป.; ส.).”
ยส + ธร = ยสธร > ยโสธร แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งยศ” คือผู้มียศ
ขยายความ :
“ยส” เป็นศัพท์ในชุดที่เรียกว่า “มโนคณะศัพท์”
หนังสือบาลีไวยากรณ์ วจีวิภาคที่ 2 นามและอัพพยศัพท์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนที่ว่าด้วย “มโนคณะศัพท์” กล่าวไว้ว่า “ศัพท์ชื่อมโนคณะ” มี 12 ศัพท์ ดังนี้ – (ในที่นี้ขอนำตัวอย่างคำในภาษาไทยมาลงกำกับไว้ด้วยเพื่อให้เห็นชัดขึ้น)
…………..
(1) มน = ใจ > (คำในภาษาไทยเช่น) มโนภาพ
(2) อย = เหล็ก > อโยโลห (บาลี: เหล็กและโลหะ)
(3) อุร = อก > ?
(4) เจต = ใจ > เจโตวิมุติ
(5) ตป = ความร้อน > ตโปทาราม
(6) ตม = มืด > ตโมนุท (“ผู้ขจัดความมืด” คือดวงอาทิตย์)
(7) เตช = เดช > เดโชชัย
(8 ) ปย = น้ำนม > ปโยธร (“ผู้ทรงไว้ซึ่งน้ำนม” คือถัน)
(9) ยส = ยศ > ยโสธร
(10) วจ = วาจา > วโจกร (บาลี: “ผู้ทำตามถ้อยคำ” คือสาวก)
(11) วย = วัย > วโยหร (บาลี: “ผู้นำไปซึ่งวัย” คือผู้ทำให้แก่)
(12) สิร = หัว > ศิโรราบ
…………..
“ยโสธร” ตามหลักควรสะกดเป็น “ยสธร” แต่มีกฎว่า มโนคณะศัพท์เมื่อเป็นส่วนหน้าของคำสมาส ให้แปลง อะ ที่สุดศัพท์เป็น โอ เช่น มน + รม แทนที่จะเป็น “มนรม” ท่านให้แปลง อะ ที่ (ม)-น เป็น โอ (มน > มโน) จึงเป็น “มโนรม”
“มนภาพ” จึงเป็น “มโนภาพ”
“เจตวิมุติ” จึงเป็น “เจโตวิมุติ”
“เดชชัย” จึงเป็น “เดโชชัย”
ดังนั้น “ยสธร” จึงเป็น “ยโสธร” แปลว่า “ผู้ทรงไว้ซึ่งยศ” คือผู้มียศ
ผู้มียศมักจะวางท่าโอ่อ่าภาคภูมิ อาจทำให้เป็นที่หมั่นไส้ของคนทั้งหลาย จึงถูกเรียกประชดว่า “พวกยโสธร” แล้วกร่อนลงมาเหลือเพียง “ยโส”
ขอย้ำให้ช่วยกันจำไว้ว่า “ยโส” ไม่ต้องมีสระ อะ
ยโส ไม่ใช่ ยะโส
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีผู้แพ้ ท่านจะชนะใคร
: ไม่มีผู้น้อย ท่านจะใหญ่กับใคร
: ไม่มีคนนอบน้อม ท่านจะไปวางท่ายโสที่ไหน
: ไม่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านจะอยู่เป็นคนไปทำไม?
#บาลีวันละคำ (4,503)
10-10-67
…………………………….
…………………………….