บาลีวันละคำ

เวทัล (บาลีวันละคำ 4,501)

เวทัล

ฝากไว้ในวงวรรณอีกคำ

อ่านว่า เว-ทัน

เวทัล” เขียนแบบบาลีเป็น “เวทลฺล” อ่านว่า เว-ทัน-ละ รากศัพท์มาจาก เวท (ความยินดี) + ปัจจัย, แปลง เป็น ลฺล

: เวท + = เวทล > เวทลฺล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ศาสน์ที่อาศัยความยินดี” (2) “ที่ตั้งแห่งความยินดี” 

เวทลฺล” ในภาษาไทยใช้เป็น “เวทัลละ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เวทัลละ : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๙ ส่วนของคัมภีร์นวังคสัตถุศาสน์. (ดู นวังคสัตถุศาสน์ ประกอบ). (ป.).”

ขยายความ :

พจนานุกรมฯ บอกว่า ให้ดูคำว่า “นวังคสัตถุศาสน์” ประกอบ ตามไปดูที่คำว่า “นวังคสัตถุศาสน์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ – 

นวังคสัตถุศาสน์ : (คำนาม) คําสอนของพระศาสดา คือ พระพุทธเจ้า มีองค์ ๙ คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ. (ป.).”

องค์ 9 ในสัตถุศาสน์แต่ละองค์หมายถึงอะไร ขอนำคำอธิบายในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [302] มาแสดงไว้ในที่นี้ ดังนี้ –

…………..

นวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ 9 — Navaṅga-satthusāsana: the Teacher’s nine-factored dispensation; the Master’s ninefold teaching)

1. สุตฺตํ (สูตร ได้แก่ พุทธพจน์ที่มีสาระเป็นแกนร้อยเรียงเรื่องหนึ่งๆ หมายเอาอุภโตวิภังค์ นิทเทส ขันธกะ ปริวาร พระสูตรในสุตตนิบาต และพุทธวจนะอื่นๆ ที่มีชื่อว่า สุตตะ หรือ สุตตันตะ กล่าวง่ายคือ วินัยปิฎก คัมภีร์นิทเทสทั้งสอง และพระสูตรทั้งหลาย — Sutta: threads; discourses)

2. เคยฺยํ (เคยยะ ได้แก่ ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรคในสังยุตตนิกาย — Geyya: discourses mixed with verses; songs)

3. เวยฺยากรณํ (ไวยากรณ์ ได้แก่ ความร้อยแก้วล้วน หมายเอาพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นใดที่ไม่จัดเข้าในองค์ 8 ข้อที่เหลือ — Veyyākaraṇa: proseexpositions)

4. คาถา (คาถา ได้แก่ ความร้อยกรองล้วน หมายเอา ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาตที่ไม่มีชื่อว่าเป็นสูตร — Gāthā: verses)

5. อุทานํ (อุทาน ได้แก่ พระคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัสสัมปยุตด้วยญาณ พร้อมทั้งข้อความอันประกอบอยู่ด้วย รวมเป็นพระสูตร 82 สูตร — Udāna: exclamations; psalms; verses of uplift)

6. อิติวุตฺตกํ (อิติวุตตกะ ได้แก่ พระสูตร 110 สูตร ที่ตรัสโดยนัยว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา — Itivuttaka: Thus-said discourses)

7. ชาตกํ (ชาดก ได้แก่ ชาดก 550 เรื่อง มีอปัณณกชาดก เป็นต้น — Jātaka: birth-stories)

8. อพฺภูตธมฺมํ (อัพภูตธรรม หรือเรื่องอัศจรรย์ ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยข้ออัศจรรย์ ไม่เคยมีทุกสูตร เช่น ที่ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี 4 อย่างนี้ หาได้ในอานนท์” ดังนี้เป็นต้น — Abbhūtadhamma: marvellous ideas)

9. เวทลฺลํ (เวทัลละ ได้แก่ พระสูตรแบบถามตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้และความพอใจ ถามต่อ ๆ ไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร สักกปัญหสูตร สังขารภาชนียสูตร และมหาปุณณมสูตร เป็นต้น — Vedalla: question-and-answer; catechetical suttas)

         คำว่า นวังคสัตถุสาสน์ นี้ เป็นคำรุ่นคัมภีร์อปทาน พุทธวงส์ และอรรถกถาทั้งหลาย บางทีเรียกว่า ชินสาสน์ บ้าง พุทธวจนะ บ้าง ส่วนในบาลีที่มาทั้งหลายเรียกว่า ธรรม บ้าง สุตะ บ้าง

…………..

เวทัลละ” ในที่นี้ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “เวทัล” อ่านว่า เว-ทัน ฟังดูสละสลวยกว่า “เวทัลละ

ขอฝากคำว่า “เวทัล” เป็นอภินันทนาการแก่นักตั้งชื่อทั้งหลาย คำนี้ใช้เป็นชื่อได้ทั้งชายและหญิง

ถ้าใครถามว่า “เวทัล” แปลว่าอะไร ก็ตอบไปว่า “ผู้เป็นที่ยินดีของคนทั้งหลาย

เป็นพ่อแม่ใคร ลูกก็ยินดี

เป็นลูกใคร พ่อแม่ก็ยินดี

เป็นพี่เป็นน้องใคร พี่น้องก็ยินดี

เป็นศิษย์ใคร ครูบาอาจารย์ก็ยินดี

เป็นครูบาอาจารย์ใคร ศิษย์ก็ยินดี

เป็นเพื่อนใคร เพื่อนก็ยินดี

เป็นคู่ครองใคร คู่ครองก็ยินดี

ฯลฯ

ชื่อนี้จะช่วยเตือนใจเจ้าของชื่ออยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะไปเป็นอะไรกับใครที่ไหนอย่างไร ต้องทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยมีความชื่นชมยินดีโดยถูกทางถูกธรรมอยู่เสมอ อย่าทำให้ใครคับแค้นขมขื่นใจว่า ทำไมหนอเราจึงต้องมาเจอกับคนแบบนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: “เป็นอะไร” ก็สำคัญ

: แต่ “ทำอะไร” สำคัญที่สุด

#บาลีวันละคำ (4,501)

8-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *