ปรวิสัย (บาลีวันละคำ 4,504)
ปรวิสัย
อย่าคิดทำอะไรนอกขอบเขต
อ่านว่า ปะ-ระ-วิ-ไส
ประกอบด้วยคำว่า ปร + วิสัย
(๑) “ปร”
บาลีอ่านว่า ปะ-ระ รากศัพท์มาจาก ป (แทนศัพท์ว่า “เบียดเบียน”) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ มฺ ที่สุดธาตุ
: ป + รมฺ = ปรมฺ + กฺวิ = ปรมกฺวิ > ปรม > ปร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการเบียดเบียน” ความหมายเดิมคือ “ปรปักษ์” ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่อีกข้างหนึ่ง หรืออยู่คนละข้างกัน ซึ่งตามปกติย่อมพอใจที่จะเบียดเบียนคือทำร้ายกัน
จากความหมายเดิมนี้ “ปร” จึงหมายถึง อีกข้างหนึ่ง, โพ้น; เหนือ, อีกอันหนึ่ง, อื่นอีก, อื่น (on the further side of, beyond; over, another, other)
(๒) “วิสัย”
บาลีเขียน “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)
: วิ + สิ = วิสิ + ณ = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –
(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)
(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)
(3) object of sense, sensual pleasure (วิสัย, อารมณ์, สุขารมณ์ทางโลกีย์)
จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –
(1) ขอบเขต
(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”
ปร + วิสย = ปรวิสย (ปะ-ระ-วิ-สะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “เขตแดนของผู้อื่น” “อารมณ์ผู้อื่น” หมายถึง –
(1) ดินแดนที่อยู่ในปกครองของประเทศอื่น
(2) อารมณ์อื่น คือ การคิดนึกตรึกตรองไปในเรื่องที่ไม่ใช่วิสัยของตนจะพึงคิด = คิดนอกเรื่อง
“ปรวิสย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปรวิสัย” (ปะ-ระ-วิ-ไส)
คำว่า “ปรวิสัย” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
คำที่ตรงกันข้ามกับ “ปรวิสัย” คือ “สกวิสัย” = ดินแดนของตน, ประเทศของตน, อารมณ์ของตน คือเรื่องที่ตนควรจะคิดนึกตรึกตรอง คิดนึกตามวิสัยที่ตนควรจะคิด
ตัวอย่าง เช่น:
บ้านเมืองของตัว คือ “สกวิสัย”
บ้านเมืองของคนอื่น คือ “ปรวิสัย”
เป็นสมณะก็คิดนึกแต่เรื่องทางธรรม อย่างนี้คืออยู่ใน “สกวิสัย”
ถ้าคิดอะไรผิดวิสัยสมณะ คือคิดนอกเรื่อง อย่างนี้คือตกอยู่ใน “ปรวิสัย”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าเกณฑ์ให้โลกต้องเป็นไปตามความเห็นของเรา
: แต่จงปรับความเห็นของเราให้ตรงกับความจริงของโลก
#บาลีวันละคำ (4,504)
11-10-67
…………………………….
…………………………….