โศกาสาไถย (บาลีวันละคำ 4,505)
โศกาสาไถย
จะทำท่าไหนถ้าเจอคนแสร้งโศกา
อ่านว่า โส-กา-สา-ไถ
ประกอบด้วยคำว่า โศกา + สาไถย
(๑) “โศกา”
คำเดิมรูปสันสกฤตเป็น “โศก” บาลีเป็น “โสก” อ่านว่า โส-กะ รากศัพท์มาจาก สุจฺ (ธาตุ = โศกเศร้า) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อุ ที่ สุ-(จฺ) เป็น โอ (สุจฺ > โสจ), แปลง จ เป็น ก
: สุจฺ + ณ = สุจณ > สุจ > โสจ > โสก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความโศกเศร้า” หมายถึง ความเศร้า, ความโศก, ความทุกข์ใจ (grief, sorrow, mourning)
“โสก” ในบาลี เป็น “โศก” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“โศก : (คำนาม) ทุกข์, ความเศร้าใจ; sorrow, grief.”
ในภาษาไทยใช้เป็น “โศก” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โศก ๑, โศก– : (คำนาม) ความทุกข์, ความเศร้า, ความเดือดร้อนใจ, เช่น อันทุกข์โศกโรคภัยในมนุษย์ มิรู้สุดสิ้นลงที่ตรงไหน. (อภัย). (คำกริยา) ร้องไห้ เช่น เขากำลังทุกข์กำลังโศก อย่าไปรบกวนเขา. (คำวิเศษณ์) เศร้า เช่น บทโศก ตาโศก; แห้ง เช่น ใบไม้โศกเพราะความแห้งแล้ง. (ส.; ป. โสก).”
ในภาษาไทย แปลง “โศก” เป็น “โศกา” “โศกี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โศกา, โศกี : (คำกริยา) ร้องไห้ เช่น รู้ว่าผิดแล้วก็แก้ตัวใหม่ อย่ามัวแต่นั่งโศกาอยู่เลย.”
(๒) “สาไถย”
บาลีเป็น “สาเฐยฺย” อ่านว่า สา-เถ็ย-ยะ รากศัพท์มาจาก สฐ + ณฺย ปัจจัย
(1) “สฐ” อ่านว่า สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก สฐฺ (ธาตุ = โกง, ลวง) + อ (อะ) ปัจจัย
: สฐฺ + อ = สฐ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คดโกง” หมายถึง มีเล่ห์เหลี่ยม, คดโกง, ฉ้อฉล (crafty, treacherous, fraudulent)
(2) สฐ + ณฺย ปัจจัย มีขั้นตอนการแปลงรูปดังนี้ :
– สฐ + ณฺย = สฐณฺย
– ลบ ณ = สฐณฺย > สฐย
– ทีฆะ อะ ที่ ส-(ฐ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” = สฐย > สาฐย
– ซ้อน ยฺ = สาฐย > สาฐยฺย
– แปลง –ยฺย (อยฺย) เป็น เอยฺย = สาฐยฺย > สาเฐยฺย
“สาเฐยฺย” (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะแห่งผู้คดโกง” หมายถึง ความคดโกง, ความคิดคดทรยศ (craft, treachery)
“สาเฐยฺย” บางแห่งสะกดเป็น “สาเถยฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “สาไถย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาไถย : (คำนาม) การแสร้งทำให้เขาหลงผิดเข้าใจผิด, มักใช้เข้าคู่กับคำ มารยา เป็น มารยาสาไถย. (ป. สาเฐยฺย; ส. ศาฐฺย).”
โศกา + สาไถย = โศกาสาไถย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การโศกเศร้าอันเกิดจากการเสแสร้งแกล้งทำ” (2) “เสแสร้งแกล้งทำเป็นโศกเศร้า”
ขยายความ :
“โศกาสาไถย” เป็นศัพท์บัญญัติตามพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสภา
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “โศกาสาไถย” (อ่านเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 เวลา 20:30 น.) กล่าวถึงคำว่า “โศกาสาไถย” ไว้ดังนี้ –
…………..
โศกาสาไถย : (อังกฤษ: sadfishing) เป็นคำที่ใช้อธิบายแนวโน้มทางพฤติกรรมที่คนอ้างเกินจริงเกี่ยวกับปัญหาทางอารมณ์ของตนเพื่อเรียกร้องความเห็นใจ คำในภาษาอังกฤษคือ “sadfishing” เป็นการเล่นคำกับคำว่า “catfishing” (การสร้างตัวตนสมมติออนไลน์) โศกาสาไถยเป็นปฏิกิริยาโดยทั่วไปของบุคคลที่เผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากหรือแสร้งทำเป็นกำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก กล่าวกันว่าพฤติกรรมโศกาสาไถยทำร้ายเยาวชนโดยการเผยให้ตกเป็นเป้าของการข่มเหงรังแกและการเตรียมเพื่อทารุณกรรมทางเพศ เนื่องจากผู้คนที่แบ่งปันเรื่องราวและอารมณ์ส่วนตัวนี้ออกไปทางออนไลน์ บางครั้งการกระทำเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ที่แบ่งปันเรื่องราวออกไปนี้ตกเป็นเป้าของผู้ข่มเหงรังแกทางออนไลน์ ผลที่ตามมาอีกประการของพฤติกรรมนี้คือกลุ่มคนที่มี “ปัญหาจริง” มักจะถูกมองข้ามหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำโศกาสาไถยไปด้วย และถูกข่มเหงรังแกเพราะเรื่องนี้
มีรายงานระบุว่า เยาวชนที่แสวงหาความช่วยเหลือออนไลน์เริ่มถูกกล่าวหาว่าโศกาสาไถย โดยข้อกล่าวหาว่าโศกาสาไถยอาจส่งผลเสียต่อเยาวชนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต โศกาสาไถยมีความเกี่ยวข้องกับการระรานทางไซเบอร์และมักถูกมองว่าเป็นวิธีการเรียกร้องความสนใจ กล่าวกันว่าโศกาสาไถยดึงดูดผู้ข่มเหงรังแกและผู้มีความใคร่เด็ก
…………..
“โศกาสาไถย” เป็นศัพท์บัญญัติตามพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสภา แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัยตามที่อ้างไว้อยู่ใกล้มือ ควานหาฉบับที่เป็น ebook หรือเป็นไฟล์ pdf ก็ไม่พบ จึงไม่อาจยืนยันถึงความหมายที่ถูกต้องของคำนี้ได้
ญาติมิตรท่านใดรู้ลู่ทางที่จะพบพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัยฉบับที่เป็น ebook หรือเป็นไฟล์ pdf กรุณาชี้แนะหรือปักป้ายบอกทางให้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หลอกลวงผู้คน อาจใช้เล่ห์กลไม่ต้องติดคุก
: แต่จะใช้เล่ห์กลให้ไม่ต้องตกนรกไม่ได้เลย
#บาลีวันละคำ (4,505)
12-10-67
…………………………….
…………………………….