เทพเทวา-เทวดาดี ๆ (บาลีวันละคำ 4,516)

เทพเทวา–เทวดาดี ๆ
แต่มิจฉาทิฏฐิก็มีในหมู่เทวดา
อ่านว่า เทบ-เท-วา เท-วะ-ดา-ดี-ดี
มีคำที่ควรรู้ 3 คำ คือ “เทพ” “เทวา” “เทวดา”
(1) หลักความรู้ทางภาษา
(๑) “เทพ”
บาลีเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
“เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น –
วร > พร
วิวิธ > พิพิธ
: เทว > เทพ
ในที่นี้ “เทพ” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า
(๒) “เทวา”
เป็นคำเดียวกับ “เทว” ซึ่งแปลงเป็น “เทพ” นั่นเอง ในที่นี้ไม่แปลง ว เป็น พ แต่แปลงเสียงจาก “เทว” เป็น “เทวา” ตามความสะดวกปากในภาษาไทย
เทพ + เทวา = เทพเทวา แปลทับศัพท์ตามเจตนาว่า “เทพและเทวา”
(๓) “เทวดา”
บาลีเป็น “เทวตา” อ่านว่า เท-วะ-ตา รากศัพท์มาจาก เทว (เทพ, เทวดา) + ตา ปัจจัย
: เทว + ตา = เทวตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นเทวดา” (condition or state of a deva) หมายถึง เทพเจ้า; เทพยดา, พระเจ้า, นางฟ้า (divinity; divine being, deity, fairy)
บาลี “เทวตา” สันสกฤตก็เป็น “เทวตา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เทวตา : (คำนาม) ‘เทวดา, เทพตา,’ อมานุษ, ผู้เปนทิพย์, อมร; a god, a deity or divine being, a divinity.”
บาลี “เทวตา” ในภาษาไทยใช้เป็น “เทวดา” (บาลี –ตา ต เต่า ไทย –ดา ด เด็ก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เทวดา : (คำนาม) ชาวสวรรค์มีกายทิพย์ ตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์ เป็นโอปปาติกะ. (ป., ส. เทวตา).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เทวดา” บอกไว้ดังนี้ –
“เทวดา : หมู่เทพ, ชาวสวรรค์ เป็นคำรวมเรียกชาวสวรรค์ทั้งเพศชายและเพศหญิง.”
ว่าโดยหลักภาษา “เทพ” “เทวา” “เทวดา” มีความหมายอย่างเดียวกัน
(2) หลักความเข้าใจทั่วไป
เท่าที่สังเกต ในภาษาไทย เมื่อเอ่ยถึงเทวดาหรือเทพเจ้าในการพูดตามปกติ เรามักใช้คำว่า “เทวดา” อันเป็นคำสามัญ ไม่นิยมใช้คำว่า “เทวา” จะใช้คำว่า “เทวา” ก็ต่อเมื่อมีคำอื่นประกอบในลักษณะเป็นภาษาปรุงแต่ง เช่น “ไหว้วอนเทวา” “เทวาอารักษ์” และ “เทพเทวา”
ในทางปฏิบัติ ท่านมีหลักธรรมที่เรียกว่า “เทวตานุสติ” แปลว่า ระลึกถึงเทวดา คือระลึกถึงคุณธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดา
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายวิธีระลึกถึงเทวดาไว้ว่า –
…………..
พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญเทวตานุสติ … พึงไปในที่ลับคน เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควร แล้วตั้งเทวดาไว้ในฐานะแห่งพยาน ระลึกถึงคุณมีศรัทธาเป็นต้นของตนอย่างนี้ว่า
เทวดาเหล่าจาตุมหาราชิกามีอยู่
เทวดาเหล่าดาวดึงส์ เหล่ายามา เหล่าดุสิต เหล่านิมมานรดี เหล่าปรนิมมิตวสวัตตี ก็มีอยู่
เทวดาจำพวกรูปพรหมมีอยู่
เทวดาที่ชั้นสูงกว่าจำพวกรูปพรหมนั้นก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาอย่างใด จุติจากภพนี้แล้วไปเกิดในภพนั้นๆ ศรัทธาอย่างนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลอย่างใด สุตะอย่างใด จาคะอย่างใด ปัญญาอย่างใด จุติจากภพนี้แล้วไปเกิดในภพนั้นๆ ศีลอย่างนั้น สุตะอย่างนั้น จาคะอย่างนั้น ปัญญาอย่างนั้น แม้ของเราก็มีอยู่ ดังนี้
เมื่อพระโยคาวจรนั้นระลึกถึงคุณของเทวดาทั้งหลายในเบื้องแรกแล้ว ระลึกถึงคุณมีศรัทธาเป็นต้นที่ตนมีอยู่ในเบื้องปลายนั่นแล ในสมัยนั้นจิตของเธอไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว
ในสมัยนั้นจิตของเธอย่อมดำเนินไปตรงแน่วปรารภเทวดาแล องค์ฌานทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในขณะเดียวกันแก่เธอผู้ข่มนิวรณ์ได้แล้ว …
ที่มา:
วิสุทธิมรรค ภาค 1 ตอนอธิบายเทวตานุสติ หน้า 287-289
วิสุทธิมรรคแปล ภาค 1 ตอน 2 หน้า 316-317

…………..
อนึ่ง พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า การระลึกถึงเทวดาตามวิธีของชาวพุทธ หมายถึงระลึกถึงคุณธรรมที่เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นเหตุให้ไปเกิดเป็นเทวดา
ไม่ได้หมายถึงระลึกถึงเทวดาหรือเทพในศาสนาต่าง ๆ แล้วทำพิธีเซ่นสรวงบูชาเพื่อให้เทพเหล่านั้นมาช่วยอำนวยพรให้ประสบความสุขความเจริญ ดังที่บางท่านเข้าใจและประพฤติกันอยู่ แล้วอ้างว่า นี่แหละคือเทวตานุสติที่พระพุทธเจ้าสอน
…………..
ท่านว่า แม้จะเป็นเทวดาก็ยังอาจเกิดมิจฉาทิฏฐิคือเห็นผิดจากทำนองคลองธรรมได้ ซึ่งชวนให้สนเท่ห์ว่า ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วไปเกิดเป็นเทวดาได้อย่างไร เทวดาควรจะเป็นเทวดาดี ๆ มิใช่หรือ
พึงเข้าใจว่า บุญกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดเป็นเทวดาก็ส่วนหนึ่ง ความคิดจิตใจที่เป็นมิจฉาทิฏฐิก็ส่วนหนึ่ง
คนที่เป็นมิจฉาทิฏฐิอาจทำบุญที่เป็นเหตุให้เกิดเป็นเทวดาได้ หรือเป็นเทวดาแล้วเกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นภายหลังก็ได้
อุปมาเหมือนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาได้ และผู้ที่บวชเป็นภิกษุแล้วย่อมสมควรที่จะปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติควร ปฏิบัติชอบ แต่ก็ปรากฏอยู่เสมอว่ามีภิกษุที่ปฏิบัติไม่ดี ไม่ตรง ไม่ควร ไม่ชอบ
ฉันใดก็ฉันนั้น
และที่พึงสังวรก็คือ ไม่ควรเอาคำว่า “เทวดา” ไปเรียกบุคคลที่ประพฤติไม่ดี ดังคำที่มีผู้กล่าวว่า “พระชั่วไม่มี ที่มีนั้นคือคนชั่ว”
แต่เทวดาดี ๆ เหมือนภิกษุที่ดีแน่ ๆ ท่านว่า ได้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังมีคำเรียกว่า “เทวเทโว” (เท-วะ-เท-โว)
“เทวเทโว” เป็นคำแสดงพระคุณนามพิเศษของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มีความหมายว่า ทรงเป็นเทพที่เหนือกว่าเทพทั้งปวง ดังที่อรรถกถาแห่งหนึ่งขยายความว่า –
ภควา ปน สพฺเพสํ เทวานํ อุตฺตมเทวตาย เทวเทโว
พระผู้มีพระภาคทรงได้นามว่า “เทวเทโว” เพราะทรงเป็นเทพยดาสูงสุดแห่งเทพทุกหมู่เหล่า
ที่มา: ปรมตฺถทีปนี ภาค 2 หน้า 274 อรรถกถาเถรคาถา (กาฬุทายิตฺเถรคาถา)
อีกแห่งไขความไว้ว่า –
สพฺพโลกวิทิตวิสุทฺธิเทโว เทวเทโว ทีปงฺกโร ภควา
พระผู้มีพระภาคทีปังกรทรงเป็นวิสุทธิเทพเป็นที่ประจักษ์แจ้งทุกแหล่งโลก จึงทรงเป็น “เทวเทโว”
ที่มา: มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์ หน้า 230 (ทีปังกรพุทธวงศ์)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “เทวเทว” ไว้ว่า “the god of gods”, Ep. of the Buddha. (“เทพเจ้าของพวกเทพ”, เป็นคำประกอบแสดงลักษณะของพระพุทธเจ้า)
ถ้ารู้ความหมายในบาลี ทุกครั้งที่พูด หรือเขียน หรือได้ยินใครพูดว่า “เทพเทวา” “เทวดา” ชาวพุทธควรจะระลึกไปให้ถึง “เทพเทวา–เทวดาดี ๆ” เป็นการต่อยอดสติปัญญาขึ้นไปอีก ไม่ติดอยู่แค่เทวดาทั้งหลาย แต่ขยายสูงขึ้นไปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็น “the god of gods” – วิสุทธิเทพที่เหนือกว่าเทพทั้งปวง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ประสบความสำเร็จเพราะสร้างบุญบารมี
: น่าภูมิใจกว่าได้ดีเพราะเทวดาบันดาล
———————–
ตามข้อเสนอแนะของคุณพี่ Parnarai Sapayaprapa
#บาลีวันละคำ (4,516)
23-10-67
…………………………….
…………………………….