บาลีวันละคำ

พิศวาส (บาลีวันละคำ 217)

พิศวาส

เป็นคำที่คุ้นกันดี จนไม่มีใครสงสัยว่าไปยังไงมายังไง

แต่บอกแล้วอาจจะนึกไม่ถึง

พิศวาส” ภาษาบาลีเป็น “วิสฺสาส” (วิด-สา-สะ) เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “วิสาสะ” เป็นที่คุ้นกันดีเช่นกัน มีความหมายว่า ความคุ้นเคย, ความสนิทสนม, การถือว่าเป็นกันเอง, พูดจาปราศรัยอย่างคุ้นเคยกัน

วิสฺสาส” แปลตามรากศัพท์ว่า “ภาวะที่หายใจได้อย่างวิเศษ คือทำให้สบายใจ” หรือ “ภาวะที่หายใจได้อย่างวิเศษ คือปล่อยวางใจโดยปราศจากความสงสัย” แปลเอาความว่า ความเชื่อ, ความไว้วางใจ, ความสนิทสนม, ความคุ้นเคย

วิสฺสาส” สันสกฤตเป็น “วิศฺวาส” เราเอารูปสันสกฤตมาใช้ว่า “พิศวาส” มีความหมายในภาษาไทยว่า รักใคร่, สิเนหา

เป็นอันว่า พิศวาส คือ วิศฺวาส

วิศฺวาส ตรงกับ วิสฺสาส

และ วิสฺสาส คือ วิสาสะ

สรุปว่า “พิศวาส” กับ “วิสาสะ” เป็นคำเดียวกัน แต่เราเอามาใช้ในความหมายที่ต่างกัน

คำ” ที่มีรากเดียวกัน เอามาใช้ในสังคมเดียวกันแท้ๆ ความหมายยังต่างกัน

คน” ที่มาจากสถาบันเดียวกัน หล่อหลอมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันแท้ๆ จะให้เหมือนกันทุกคนได้อย่างไร

บาลีวันละคำ (217)

11-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย