บาลีวันละคำ

ลิงค์ในบาลี (บาลีวันละคำ 4,517)

ลิงค์ในบาลี

บาลีก็มีลิงค์

ลิงค์” อ่านว่า ลิง เขียนแบบบาลีเป็น “ลิงฺค” (มีจุดใต้ งฺ) อ่านว่า ลิง-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ลิงฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: ลิงฺคฺ + = ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องถึงการจำแนกว่าเป็นหญิงเป็นชาย

(2) ลีน (ที่ลับ) + องฺค (อวัยวะ), ลบ ที่ (ลี)-, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ

: ลีน + องฺค = ลีนงฺค > ลินงฺค > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ลับ

(3) ลีน (ที่ลับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ลบ ที่ (ลี)-, รัสสะ อี เป็น อิ (ลี > ลิ), ซ้อน งฺ ระหว่าง ลีน + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ

: ลีน > ลิน > ลิ + งฺ = ลิงฺ + คมฺ = ลิงฺคม + = ลิงฺคมฺณ > ลิงฺคม > ลิงฺค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ยังส่วนที่ลี้ลับให้ถึงความแจ่มแจ้ง

ลิงฺค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลักษณะ, เครื่องหมาย, นิมิต, ที่สังเกตรูปลักษณะ (characteristic, sign, attribute, mark, feature)

(2) เครื่องหมายเพศ, องคชาต, อวัยวะเพศ (mark of sex, sexual characteristic, pudendum)

(3) (คำในไวยากรณ์) เพศ, คำลงท้ายที่แสดงลักษณะ, ลิงค์ (mark of sex, characteristic ending, gender)

บาลี “ลิงฺค” สันสกฤตก็เป็น “ลิงฺค

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ลิงฺค : (คำนาม) ‘ลิงค์,’ เครื่องหมาย, ลักษณะ; องคชาตแห่งชาย; องค์กำเนิด, องคชาตหรือพระศิวะ อันมีรูปเปนลิงค์นั้น, ‘พระศิวลิงค์’ ก็เรียก; อนุมาน; อุทาหรณ์หรืออุปนัยอันนำไปสู่อวสาน; ภาวะหรือปรกฤติ; เภท (ดุจเภทชายหญิง, ฯลฯ); a mark, a sign; the penis; the phallus, or Śiva under that emblem; inference; the premises leading to a conclusion; nature or Prakriti; gender.”

…………..

หมายเหตุ:

คำว่า “เภท” ในคำนิยามนี้ แปลเป็นอังกฤษว่า gender

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล gender ว่า เพศหรือลึงค์ของนามและสรรพนามในไวยากรณ์

เป็นอันว่า คำนี้ก็คือ “เพศ” นั่นเอง แต่สะกดเป็น “เภท” ตามมติของท่านผู้จัดทำ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ลิงค์ : (คำนาม) เครื่องหมายเพศ; ประเภทคำในไวยากรณ์ที่บอกให้รู้ว่าคำนั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุงลิงค์ คือ เพศชาย อิตถีลิงค์ คือ เพศหญิง; ลึงค์ ก็ว่า. (ป., ส.).”

และที่คำว่า “ลึงค์” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

ลึงค์ : (คำนาม) อวัยวะเพศชาย, อวัยวะเพศ; ประเภทคำในไวยากรณ์ที่บอกให้รู้ว่าคำนั้นเป็นเพศอะไร เช่น ปุลลึงค์ คือ เพศชาย สตรีลึงค์ คือ เพศหญิง; ลิงค์ ก็ว่า. (ป., ส. ลิงฺค).”

ขยายความ :

ขอยกข้อความในแบบเรียนบาลีไวยากรณ์ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตอนที่ว่าด้วยลิงค์ มาเสนอในที่นี้เพื่อเป็นความรู้ ดังนี้ –

…………..

นามศัพท์ในบาลีภาษานั้น ท่านแบ่งเป็นลิงค์ ๓ คือ ปุํลิงฺคํ เพศชาย ๑, อิตฺถีลิงฺคํ เพศหญิง ๑, นปุํสกลิงฺคํ มิใช่เพศชาย มิใช่เพศหญิง ๑ 

นามนามเป็นลิงค์เดียว คือจะเป็นปุงลิงค์ อิตถีลิงค์ หรือนปุงสกลิงค์ ก็อย่างเดียวบ้าง, เป็น ๒ ลิงค์ คือศัพท์อันเดียว มีรูปอย่างเดียว เป็นได้ทั้ง ๒ ลิงค์ หรือมูลศัพท์เป็นอันเดียว เปลี่ยนแต่สระที่สุดให้แปลกกัน พอเป็นเครื่องหมายให้ต่างลิงค์กันบ้าง. 

คุณนามและสัพพนามเป็นได้ทั้ง ๓ ลิงค์ 

ลิงค์นั้นจัดตามสมมติของภาษาบ้าง ตามกำเนิดบ้าง 

ที่จัดตามสมมตินั้น เหมือนหนึ่งกำเนิดสตรี สมมติให้เป็นปุงลิงค์ และของที่ไม่มีวิญญาณ สมมติให้เป็นปุงลิงค์และอิตถีลิงค์ เหมือนคำว่า ทาโร เมีย สมมติให้เป็นปุงลิงค์, ปเทโส ประเทศ สมมติให้เป็นปุงลิงค์, ภูมิ แผ่นดิน สมมติให้เป็นอิตถีลิงค์ 

ที่จัดตามกำเนิดนั้น เหมือน ปุริโส ชาย เป็นปุงลิงค์, อิตฺถี หญิง เป็นอิตถีลิงค์ เป็นต้น.

ที่มา: บาลีไวยากรณ์ วจีวิภาคที่ 2 นามและอัพพยศัพท์ หน้า 30-31

…………..

ดูก่อนภราดา!

พระบางรูป ถูกยึดเพศ แต่แล้วก็ต้องเอาเพศกลับมาถวายคืน

แต่พระบางรูป ถูกยึดแล้วยึดเลย ไม่ได้คืน

: เป็นเพศอะไรก็ไม่ต้องกลัวถูกยึด

: ถ้าประพฤติให้ถูกกับเพศ

#บาลีวันละคำ (4,517)

24-10-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *