บาลีวันละคำ

ปฏิสสวทุกกฏ (บาลีวันละคำ 4,519)

ปฏิสสวทุกกฏ

ศัพท์วิชาการทางพระวินัย

อ่านว่า ปะ-ติด-สะ-วะ-ทุก-กด

ประกอบด้วยคำว่า ปฏิสสว + ทุกกฏ 

(๑) “ปฏิสสว

เขียนแบบบาลีเป็น “ปฏิสฺสว” (มีจุดใต้ สฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปะ-ติด-สะ-วะ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ) + สุ (ธาตุ = ฟัง) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว), ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ปฏิ + สฺ + สุ)

: ปฏิ + สฺ + สุ = ปฏิสฺสุ + = ปฏิสฺสุ > ปฏิสฺโส > ปฏิสฺสว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การฟังตอบ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกความหมายของ “ปฏิสฺสว” ว่า คำรับรอง, คำยืนยัน, คำมั่นสัญญา, คำปฏิญญา

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิสฺสว” ว่า assent, promise, obedience (การยินยอม, การปฏิญญา, การเชื่อฟัง) 

บาลี “ปฏิสฺสว” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “ปฏิสวะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิสวะ : (คำแบบ) (คำนาม) การฝืนคำรับ, การรับแล้วไม่ทำตามรับ. (ป. ปฏิสฺสว).”

(๒) “ทุกกฏ

เขียนแบบบาลีเป็น “ทุกฺกฎ” (ก ไก่ 2 ตัว มีจุดใต้ กฺ ตัวหน้า, ตัวตาม ก ไก่ คือ ปฏัก) อ่านว่า ทุก-กะ-ตะ รากศัพท์มาจาก ทุ + กฏ 

(ก) “ทุ” เป็นศัพท์จำพวก “อุปสรรค” นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ทุ : ชั่ว, ยาก, ลำบาก, ทราม, น้อย” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ทุ” ว่า (bad, wrong, perverseness, difficulty, badness (ชั่ว, ผิด, ยาก, ลำบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทุ ๑ : (คำวิเศษณ์) คําอุปสรรคในภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, เลว, ทราม, เช่น ทุจริต ว่า ความประพฤติชั่ว, ทุกร ว่า ทําได้โดยยาก, ทุปปัญญา ว่า ปัญญาทราม เป็นต้น. (ดู ทุร ประกอบ). (ป.; ส. เดิมเป็น ทุสฺ), ทุ นี้เมื่ออยู่หน้าคําอื่นตามหลักไวยากรณ์ภาษาบาลีและสันสกฤต กําหนดให้เติมตัวสะกดลงตัวหนึ่งเพื่อให้เท่าของเดิม เช่น ทุ + คติ เป็น ทุคคติ, ทุ + จริต เป็น ทุจจริต, ตัวสะกดนั้นดูพยัญชนะคําหลังเป็นเกณฑ์ ถ้าพยัญชนะวรรคคําหลังเป็นอักษรสูงหรืออักษรกลาง ก็ใช้พยัญชนะที่ ๑ แห่งวรรคนั้นสะกด เช่น ทุ + กร เป็น ทุกกร, ทุ + ข เป็น ทุกข, ถ้าเป็นพยัญชนะวรรคคําหลังเป็นอักษรตํ่า ก็ใช้พยัญชนะที่ ๓ แห่งวรรคนั้นสะกด เช่น ทุ + คติ เป็น ทุคคติ, ทุ + ภาษิต เป็น ทุพภาษิต, อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าพยัญชนะคําหลังเป็นอักษรตํ่า ก็ใช้เติม ร แทนตัวสะกดได้ทุกวรรค เช่น ทุรชน ทุรพล ทุรภิกษ์ ทุรยศ ทุรลักษณ์, หรือเอาสระ อุ ออกเสียก็มี เช่น ทรชน ทรพล ทรพิษ ทรยศ ทรลักษณ์, ในวิธีหลังนี้บางมติว่า เอา อุ เป็น ร (ใช้ไปถึงคํา ทรกรรม ด้วย) และเมื่ออยู่หน้าสระก็เติม ร เช่น ทุ + อาจาร เป็น ทุราจาร, ทุ + อาธวา เป็น ทุราธวา.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ บอกไว้ว่า –

ทุ ๑ : (คำวิเศษณ์) คำอุปสรรคในภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า ชั่ว, ยาก, ลำบาก, เลว, ทราม, เช่น ทุจริต ว่า ความประพฤติชั่ว, ทุกร ว่า ทำได้โดยยาก, ทุปปัญญา ว่า ปัญญาทราม เป็นต้น. (ดู ทุร ประกอบ). (ป.; ส. เดิมเป็น ทุสฺ).”

(ข) “กฏ” รูปคำเดิมเป็น “กต” รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ, แปลง เป็น  

: กรฺ + = กรต > กต > กฏ แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กระทำแล้ว

ทุ + กฎ ซ้อน กฺ

: ทุ + กฺ + กฏ = ทุกฺกฏ (ทุก-กะ-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กระทำผิดแล้ว” หรือ “กรรมที่ทำไม่ดี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 สะกดเป็น “ทุกฏ” (ตัด ออกตัวหนึ่ง) บอกไว้ว่า –

ทุกฏ : (คำแบบ) (คำนาม) ความชั่ว; ชื่ออาบัติจําพวกหนึ่งในอาบัติทั้ง ๗. (ป. ทุกฺกฏ).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้แก้ไขการสะกดเป็น “ทุกกฏ” (คง ไว้ทั้ง 2 ตัว) บทนิยามก็ปรับแก้ใหม่ โดยบอกไว้ว่า –

ทุกกฏ : (คำนาม) ชื่ออาบัติจำพวกหนึ่งในอาบัติทั้ง ๗ จัดไว้ในพวกลหุกาบัติคืออาบัติเบาที่เปรียบด้วยลหุโทษ. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

ทุกกฏ : ‘ทำไม่ดี’ ชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง เป็นความผิดถัดรองลงมาจากปาฏิเทสนียะ เช่น ภิกษุสวมเสื้อ สวมหมวก ใช้ผ้าโพกศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ.

…………..

ปฏิสฺสว + ทุกฺกฏ = ปฏิสฺสวทุกฺกฏ (ปะ-ติด-สะ-วะ-ทุก-กะ-ตะ) แปลว่า “ทุกกฏเพราะรับคำ” หรือ “ทุกกฎเพราะกลับคำ

ปฏิสสวทุกฺกฏ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปฏิสสวทุกกฏ” อ่านว่า ปะ-ติด-สะ-วะ-ทุก-กด

ถ้าอนุวัตตามพจนานุกรมฯ ซึ่งคำว่า “ปฏิสสว” สะกดเป็น “ปฏิสวะ” คำนี้ก็ควรสะกดเป็น “ปฏิสวทุกกฏ” ( เสือ ตัวเดียว) แต่ในที่นี้สะกดตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต 

คำว่า “ปฏิสสวทุกกฏ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “ปฏิสสวทุกกฏ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ปฏิสสวทุกกฏ : ทุกกฏเพราะรับคำ, อาบัติทุกกฎเพราะไม่ทำตามที่รับปากไว้ เช่น ภิกษุรับนิมนต์ของชาวบ้าน หรือตกลงกันไว้ ว่าจะอยู่จำพรรษาในที่หนึ่ง แต่แล้ว โดยมิได้ตั้งใจพูดเท็จ เธอพบเหตุผลอันทำให้ไม่อยู่ในที่นั้น เมื่อทำให้คลาดจากที่รับปากไว้ จึงต้องปฏิสสวทุกกฏ (ถ้าพูดเท็จทั้งที่รู้ เป็นปาจิตตีย์)

…………..

แถม :

ในคัมภีร์อรรถกถาพระวินัย ท่านแสดงชื่ออาบัติทุกกฏไว้ 8 ชื่อ ดังนี้ –

…………..

(1) บุพพประโยคทุกกฏ = ทุกกฏเพราะเตรียมการประพฤติไม่ดี 

(2) สหประโยคทุกกฏ = ทุกกฎเพราะลงมือทำผิด แต่ยังทำไม่สำเร็จ

(3) อนามาสทุกกฏ = ทุกกฏเพราะจับต้องของที่ห้ามจับ 

(4) ทุรุปจิณณทุกกฏ = ทุกกฏเพราะปลิดหรือเก็บผลไม้จากต้น 

(5) วินัยทุกกฏ = ทุกกฏเพราะละเลยเรื่องที่ควรปฏิบัติ

(6) ญาตทุกกฏ = ทุกกฏเพราะถูกสงฆ์ถามแล้วไม่บอกเรื่องที่ตนรู้

(7) ญัตติทุกกฏ = ทุกกฏเพราะสวดกรรมวาจาไม่ถูกต้อง 

(8 ) ปฏิสสวทุกกฏ = ทุกกฏเพราะผิดคำพูด 

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 1 หน้า 453-454

หมายเหตุ: ความหมายที่ให้ไว้นี้อาจคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้อง ขอแรงนักเรียนบาลีช่วยพิจารณาตรวจสอบอีกครั้ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

ไม่รับคำ:  ยังพอคบกันได้

รับคำแล้วกลับคำ:  คบไม่ได้

#บาลีวันละคำ (4,519)

26-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *