บาลีวันละคำ

อานิสังโส (บาลีวันละคำ 4,518)

อานิสังโส

ช่วยกันใช้คำนี้แทน “อานิสงส์” ดีไหม?

อ่านว่า อา-นิ-สัง-โส

เขียนแบบบาลีเป็น “อานิสํโส

อานิสํโส” รูปคำเดิมเป็น “อานิสํส” อ่านว่า อา-นิ-สัง-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + สํสฺ (ธาตุ = สรรเสริญ) + (อะ) ปัจจัย 

: อา + นิ + สํสฺ = อานิสํสฺ + = อานิสํส แปลตามศัพท์ว่า “คุณที่นำออกมาสรรเสริญได้อย่างดียิ่ง

(2) อานิ (ผลที่ได้รับ) + สนฺท (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + (อะ) ปัจจัย, แปลง นฺ ที่ สนฺท เป็นนิคหิต (สนฺทฺ > สํท), แปล ที่ สนฺทฺ เป็น (สนฺทฺ > สนฺส)

: อานิ + สนฺทฺ = อานิสนฺทฺ + = อานิสนฺท > อานิสํท > อานิสํส แปลตามศัพท์ว่า “คุณที่หลั่งผลออก” 

อานิสํส” (ปุงลิงค์) หมายถึง การสรรเสริญ คือสิ่งซึ่งเป็นที่น่ายกย่อง, กำไร, ความดี, ประโยชน์, ผลดี (praise i. e. that which is commendable, profit, merit, advantage, good result)

บาลี “อานิสํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อานิสงส์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อานิสงส์ : (คำนาม) ผลแห่งกุศลกรรม, ผลบุญ; ประโยชน์ เช่น อานิสงส์กฐิน. (ป. อานิสํส; ส. อานฺฤศํส, อานุศํส).”

อานิสํส” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อานิสํโส” เขียนแบบไทยเป็น “อานิสังโส

อภิปรายขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำมี “เพื่อน” ทางเฟซบุ๊กคนหนึ่ง ถ้าเขียนคำว่า “ตรัส” เขาจะใช้ว่า “ทรงตรัส” ทุกครั้ง เมื่ออธิบายให้ฟังว่า “ตรัส” เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่ต้องใช้ “ทรง” นำหน้าอีก เขารับฟังอย่างเข้าใจและยอมรับว่าเผลอไป

เชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้เมื่อเขียนคำว่า “ตรัส” เขาก็ยังใช้ว่า “ทรงตรัส” ทุกครั้งเหมือนเดิม

อีกคนหนึ่ง ถ้าเขียนคำว่า “อานิสงส์” เขาจะสะกดเป็น “อานิสงค์” ค ควายการันต์ ทุกครั้ง เมื่ออธิบายให้ฟังว่า “อานิสงส์” เป็นคำที่มาจากบาลีว่า “อานิสํส” เราเอามาใช้เป็น “อานิสงส์” -สงส์ ส เสือ การันต์ เพราะคำเดิมเป็น “อานิสํส” ลงท้ายด้วย ส เสือ เขารับฟังอย่างเข้าใจและยอมรับว่าเผลอไป

เชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้เมื่อเขียนคำว่า “อานิสงส์” เขาก็ยังสะกดเป็น “อานิสงค์” -สงค์ ค ควายการันต์ ทุกครั้งเหมือนเดิม

ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกถึงคำบาลีว่า “อเตกิจฉา” ซึ่งแปลว่า “รักษาเยียวยาไม่ได้” ถ้าเป็นโรคก็คือโรคที่รักษาไม่หาย 

การใช้คำผิด การสะกดคำผิด อาจจะเป็นโรคชนิดหนึ่งที่รักษาไม่หาย

คำว่า “อานิสงส์” ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้คำบาลีตรง ๆ เต็ม ๆ ว่า “อานิสังโส” อาจจะเสียเวลาในการเปล่งเสียงเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่ง เพราะ อา-นิ-สง มี 3 พยางค์ แต่ อา-นิ-สัง-โส มี 4 พยางค์ แต่ผลที่ได้ก็คือ ตัดปัญหาการสะกดผิดได้สิ้นเชิง

ถ้าใช้ “อานิสังโส” แทน “อานิสงส์” ก็จะไม่มีใครสะกดผิดเป็น “อานิสงค์” หรือ “อานิสงฆ์” อีกต่อไป

อานิสังโส” อาจดูเป็นคำตลก เสียงก็แปลก แต่ในภาษาไทย คำที่ลงท้ายด้วย “-โส” เราก็มีใช้พูดกันอยู่ เช่น ยโส วิเศษวิโส แม้แต่ที่เป็นคำบาลีตรง ๆ เช่น อิติปิโส เราก็พูดกันได้ เพิ่ม “อานิสังโส” เข้าอีกสักคำจะเป็นไรไป

แถม :

โปรดทราบว่า ทั้งหมดนี้เป็นการเสนอแบบประชดประชัน ไม่ได้หวังว่าจะมีใครเอาไปใช้จริง ๆ

เพียงแต่เห็นเพื่อนใช้คำผิดสะกดคำผิด หมดปัญญาที่จะเตือน ก็เลยลองใช้วิธีนี้

ถ้าเผอิญเพื่อนได้เข้ามาอ่าน แล้วเกิดได้สติ เลิกใช้คำว่า “ทรงตรัส” เลิกสะกด “อานิสงส์” เป็น “อานิสงค์” ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ก็ถือว่าบาลีวันละคำวันนี้คุ้มค่า

แต่ถ้ายังเหมือนเดิม ก็คิดเสียว่า ได้คำว่า “อานิสังโส” ไปพูดเล่นสนุก ๆ อีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเสียสติบางคน

: ทำให้คนบางคนได้สติ

#บาลีวันละคำ (4,518)

25-10-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *