บาลีวันละคำ

สูญ-ศูนย์ (บาลีวันละคำ 4,535)

สูญศูนย์

สูญเสีย แต่อย่าเสียศูนย์

สูญ” เป็นรูปคำบาลี

ศูนย์” เป็นรูปคำสันสกฤต

สูญ” บาลีเป็น “สุญฺญ” อ่านว่า สุน-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุน (การไป) + ปัจจัย, แปลง นฺย (คือ ที่ สุ และ ปัจจัย) เป็น ญฺญ

: สุน + = สุนฺย > สุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกื้อกูลแก่การไป” (คือว่าง โปร่ง โล่ง ทำให้ไม่ติดขัด)

(2) สุนฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง นฺย (คือ ที่ สุ และ ปัจจัย) เป็น ญฺญ

: สุนฺ + = สุนฺย > สุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความว่างเปล่า” 

สุญฺญ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์: ว่างเปล่า, ไม่มีคนอยู่, สูญ, ไม่จริงจัง, ไม่มีแก่นสาร, ไม่มีประโยชน์, เป็นปรากฏการณ์ (empty, uninhabited, void, devoid of reality, unsubstantial, useless, phenomenal)

(2) เป็นคำนาม: ความสูญ, ความว่างเปล่า, ความเหือดหาย (void, emptiness, annihilation)

บาลี “สุญฺญ” สันสกฤตเป็น “ศูนฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – 

ศูนฺย : (คำวิเศษณ์) ว่างเปล่า; เปลี่ยวเปล่า; empty or void; lonely or desert;- (คำนาม) ฟ้า, อากาศ, ที่ว่างเปล่าหรือไม่มีวัตถุธาตุ; จุด; เลขศูนย์; อภาวะ; sky, ether, vacuum; a spot or dot; a cipher; nothing.”

บาลี “สุญฺญ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สูญ” อิงรูปบาลี และ “ศูนย์” ตามรูปสันสกฤต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

(1) สูญ : (คำกริยา) ทำให้หายสิ้นไป เช่น คนโบราณใช้ปูนแดงสูญฝี, หายไป เช่น ทรัพย์สมบัติสูญไปในกองเพลิง. (คำวิเศษณ์) ที่หมดไป ในคำว่า หนี้สูญ. (ป. สุญฺญ; ส. ศูนฺย).

(2) ศูนย-, ศูนย์ : (คำวิเศษณ์) ว่างเปล่า. (คำกริยา) หายสิ้นไป. (คำนาม) ตัวเลข ๐; จุดกลาง, ใจกลาง, แหล่งกลาง, แหล่งรวม, เช่น ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์หนังสือ ศูนย์รวมข่าว. (ส. ศูนฺย; ป. สุญฺญ).

ข้อสังเกตในภาษาไทย:

(1) สูญ กับ ศูนย์ ใช้ในความหมายตรงกันคือ ว่างเปล่า, หายไป, หมดไป

(2) แต่ที่หมายถึง ตัวเลข ๐, จุดกลาง, ใจกลาง, แหล่งกลาง, แหล่งรวม ใช้ “ศูนย์” (สันสกฤต) ไม่ใช้ “สูญ” (บาลี)

ฝึกสมองทดลองปัญญา :

คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวจาก-ไม่มีอะไรเลย –

เรียกว่า “เริ่มต้นจากศูนย์”?

หรือว่า “เริ่มต้นจากสูญ”?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: วิธีที่จะไม่ต้องสูญเสียอะไรเลย 

ก็คืออย่ามีอะไรเลย

: แต่เมื่อมีอะไรแล้ว 

วิธีที่ดีที่สุดก็คือเตรียมตัวรับความสูญเสีย

#บาลีวันละคำ (4,535)

11-11-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *