บาลีวันละคำ

รุกขมูลิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 9 (บาลีวันละคำ 4,118)

รุกขมูลิกังคะ ธุดงค์ข้อที่ 9

พระรุกขมูลตัวจริง

…………..

ธุดงค์มี 13 ข้อ คือ –

1. ปังสุกูลิกังคะ ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร 

2. เตจีวริกังคะ ถือทรงเพียงไตรจีวรเป็นวัตร 

3. ปิณฑปาติกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร 

4. สปทานจาริกังคะ ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับเป็นวัตร 

5. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร 

6. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร 

7. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร 

8. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่าเป็นวัตร 

9. รุกขมูลิกังคะ ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร 

10. อัพโภกาสิกังคะ ถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร 

11. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร 

12. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้ 

13. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร 

…………..

รุกขมูลิกังคะ” อ่านว่า รุก-ขะ-มู-ลิ-กัง-คะ ประกอบด้วยคำว่า รุกขมูลิก + อังคะ

(๑) “รุกขมูลิก

เขียนแบบบาลีเป็น “รุกฺขมูลิก” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า รุก-ขะ-มู-ลิ-กะ ประกอบด้วยคำว่า รุกฺข + มูล + อิก ปัจจัย

(ก) “รุกข” รากศัพท์มาจาก –

(1) รุกฺขฺ (ธาตุ = ป้องกัน, ปิดกั้น) + (อะ) ปัจจัย

: รุกฺข + = รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป้องกัน” (คือป้องกันแดดได้)

(2) รุหฺ (ธาตุ = เกิด, งอกขึ้น) + ปัจจัย, แปลง เป็น กฺ (รุหฺ > รุกฺ)

: รุหฺ + = รุหฺข > รุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดขึ้นบนแผ่นดิน

บาลี “รุกฺข” (ปุงลิงค์) สันสกฤตเป็น “วฺฤกฺษ” ใช้ในภาษาไทยว่า “พฤกษ” คือ ต้นไม้

(ข) “มูล” บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + (อะ) ปัจจัย

: มูลฺ + = มูล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น” 

มูล” ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ :

1 รากไม้ (root)

2 โคน, ก้น (foot, bottom)

3 หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)

4 กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)

5 ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)

6 แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “มูล” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

1 โคน เช่น รุกขมูล

2 ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล

3 เค้า เช่น คดีมีมูล

4 ต้น เช่น ชั้นมูล

5 มวล, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, เช่น จัดข้าวของไว้ให้โดยพร้อมมูล เตรียมเอกสารหลักฐานไว้ให้พร้อมมูล

6 อุจจาระสัตว์

7 ขี้หรือเศษของสิ่งต่าง ๆ เช่น มูลไถ = ขี้ไถ

รุกฺข + มูล = รุกฺขมูล (รุก-ขะ-มู-ละ) แปลตามศัพท์ว่า “โคนต้นไม้” (the foot of a tree) 

ในภาษาบาลีนิยมแบ่งต้นไม้ออกเป็น 3 ส่วน :

– ส่วนโคน เรียกว่า “มูล” (มู-ละ)

– ส่วนลำต้น เรียกว่า “มชฺฌิม” (มัด-ชิ-มะ) หรือ “ขนฺธ” (ขัน-ทะ)

– ส่วนปลาย เรียกว่า “อุปริ” (อุ-ปะ-ริ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รุกขมูล : (คำนาม) โคนต้นไม้, เรียกพระที่ถือธุดงค์อยู่โคนไม้ว่า พระรุกขมูล.”

(ค) รุกฺขมูล + อิก = รุกฺขมูลิก (รุก-ขะ-มู-ลิ-กะ) แปลว่า “ผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร” “ผู้พักอาศัยที่โคนไม้เป็นประจำ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “รุกฺขมูลิก” ไว้ดังนี้ – 

(1) one who lives at the foot of a tree, an open air recluse (ผู้อยู่โคนต้นไม้, ผู้อยู่กลางแจ้ง) 

(2) belonging to the practice of a recluse living under a tree “tree rootman’s practice” (เป็นวิธีปฏิบัติของนักพรตที่อาศัยอยู่ที่โคนต้นไม้ “การปฏิบัติกรรมฐานโดยนั่งที่โคนต้นไม้เป็นวัตร”)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “รุกขมูลิกธุดงค์” บอกไว้ว่า –

รุกขมูลิกธุดงค์ : (คำนาม) ธุดงค์อย่าง ๑ ใน ๑๓ อย่าง ที่ภิกษุจะต้องสมาทานว่าจะอยู่โคนต้นไม้เป็นประจํา. (ป. รุกฺขมูลิกธูตงฺค).”

(๒) “อังคะ

เขียนแบบบาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + (อะ) ปัจจัย

: องฺคฺ + = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย

องฺค” ในบาลีหมายถึง –

(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)

(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)

(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)

รุกฺขมูลิก + องฺค = รุกฺขมูลิกงฺค (รุก-ขะ-มู-ลิ-กัง-คะ) แปลว่า “องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร” หมายถึง วิธีปฏิบัติธุดงค์ว่าด้วยการพักอาศัยที่โคนไม้ ไม่อยู่ในที่มุงบัง

รุกฺขมูลิกงฺค” ใช้ในภาษาไทยเป็น “รุกขมูลิกังคะ” 

ขยายความ :

รุกขมูลิกังคะ” เป็นธุดงค์ข้อที่ 9 ในจำนวนธุดงค์ 13 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ธุดงค์” และ “รุกขมูลิกังคะ” ไว้ดังนี้ 

…………..

(1) ธุดงค์ : องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ข้อปฏิบัติเข้มงวด ที่สมัครใจสมาทานประพฤติประจำตัว ชั่วระยะกาลสั้น หรือยาว หรือแม้ตลอดชีวิต ก็ได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี 13 ข้อ 

(2) รุกขมูลิกังคะ : องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้พักอาศัยใต้ร่มไม้ ไม่อยู่ในที่มุงบัง, คำสมาทานว่า “ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบัง สมาทานองค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร” (ข้อ ๙ ใน ธุดงค์ ๑๓)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [342] แสดง “รุกขมูลิกังคะ” ธุดงค์ข้อที่ 9 ไว้ดังนี้ –

…………..

9. รุกขมูลิกังคะ (องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร คำสมาทานว่า “ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ, รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้างดที่มุงบัง สมาทานองค์แห่งผู้—” — Rukkhamūlikaṅga: tree-rootdweller’s practice)

…………..

พระแบกกลดสะพายบาตร คนสมัยนี้เรียก “พระธุดงค์” ไม่มีเค้าเงื่อนว่าการแบกกลดสะพายบาตรเป็นธุดงค์ข้อไหน

คนเก่าเรียกพระแบกกลดสะพายบาตรว่า “พระรุกขมูล” ยังพอมีเค้ามูลว่ามาจากธุดงค์ข้อ “รุกขมูลิกังคะ” นี้

หลักข้อหนึ่งใน 4 หลักแห่งการดำรงชีวิตของภิกษุที่พระอุปัชฌาย์ปฐมนิเทศให้ฟังตั้งแต่วันแรกที่บวชก็คือ “รุกฺขมูลเสนาสนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา” ถอดความว่า “ชีวิตนักบวชในพระพุทธศาสนาอาศัยโคนไม้เป็นที่อยู่” 

ในต้นพุทธกาล ภิกษุในพระพุทธศาสนาอาศัยโคนไม้เป็นที่พัก อันเป็นเครื่องแสดงให้รู้ว่าเป็นผู้สละละวางทรัพย์สินทั้งปวง แม้กระทั่งที่อยู่ก็อาศัยธรรมชาติล้วนๆ 

แม้ภายหลังจะมีผู้มีศรัทธาสร้างที่พักถวายและมีพุทธานุญาตให้ภิกษุใช้สอยได้ การอยู่โคนไม้ก็ยังเป็นข้อปฏิบัติที่ถือกันว่าเป็นการขัดเกลาอัธยาศัยอย่างหนึ่ง 

การถือธุดงค์ข้อ “รุกขมูลิกังคะ” ก็คือการถอยกลับไปหาวิถีชีวิตดั้งเดิมของพระ-ผู้ไม่มีบ้านเรือนนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระสมัยเก่าอยู่โคนไม้

: พระสมัยใหม่อยู่…??

#บาลีวันละคำ (4,118)

21-9-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *