บาลีวันละคำ

สักยันต์ (บาลีวันละคำ 4,536)

สักยันต์

สิ่งที่แปรผันไปตามกาลเวลา

อ่านว่า สัก-ยัน

ประกอบด้วยคำว่า สัก + ยันต์

(๑) “สัก” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สัก” ไว้ 4 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) สัก ๑ : (คำนาม) ชื่อไม้ต้นชนิด Tectona grandis L.f. ในวงศ์ Labiatae เนื้อไม้แข็งและคงทน เหมาะแก่การสร้างบ้านและทำเครื่องเรือน ใบและเนื้อไม้ใช้ทำยาได้.

(2) สัก ๒ : (คำกริยา) ทำให้ตึง, ทำให้แน่น, เช่น สักว่าว สักที่นอน.

(3) สัก ๓ : (คำกริยา) เอาของแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน เช่น สักปลาไหล สักหาของในน้ำ สักรอยช้ำเพื่อรีดเอาเลือดที่คั่งออก, ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมาย หรือลวดลาย, ถ้าใช้หมึก เรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมัน เรียกว่า สักน้ำมัน, (คำโบราณ) ทำเครื่องหมายโดยใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกจิ้มที่ผิวหนังเพื่อแสดงเป็นหลักฐานบนร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือเป็นเลกมีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้า แสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องโทษปาราชิกเป็นต้น.

(4) สัก ๔ : (คำวิเศษณ์) อย่างน้อย, เพียง, ราว, เช่น ขอเวลาสัก ๒ วัน.

สัก” ในที่นี้คือ “สัก” ตามข้อ (3)

(๒) “ยันต์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ยันต์ : (คำนาม) ตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์, เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์, เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ยันต์” มาจากภาษาอะไร

ยันต์” เขียนแบบบาลีเป็น “ยนฺต” อ่านว่า ยัน-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ยา (ธาตุ = ไป, ถึง) + อนฺต ปัจจัย, ลบ อา สระที่สุดธาตุ (ยา > )

: ยา > + อนฺต = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปถึงกิริยานั้น” คือแสดงกิริยานั้นๆได้ “สิ่งที่ทำอาการนั้นๆ ไปด้วยมือและเท้าเป็นต้น

(2) ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + (อะ) ปัจจัย ซ้อน นฺ กลางธาตุ

: ยตฺ < + นฺ + = ยนฺต + = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องมือที่พยายามในการยกขึ้นยกลงเป็นต้นได้” = หุ่นยนต์

ยนฺต” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง วิธีการสำหรับหยิบจับ, สิ่งที่คิดขึ้น, อุบาย, เครื่องมือ, เครื่องยนต์, กลไก (a means for holding, contrivance, artifice, instrument, machine, mechanism)

ยนฺต” ในภาษาไทย ใช้เป็น “ยนต์” แบบบาลี และ “ยนตร์” แบบสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ยนต์, ยนตร์ : (คำนาม) เครื่องกลไก, เครื่องจักรที่ให้กำเนิดพลังงานหรือทำให้วัตถุเคลื่อนที่. (ป. ยนฺต; ส. ยนฺตฺร).”

สันสกฤตมีคำว่า “ยนฺตฺร” (ยัน-ตฺระ) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

ยนฺตฺร : (คำนาม) ‘ยันตร์, ยนตร์’ เครื่องยนตร์ทั่วไป; การห้ามหรือระงับ; a machine, any implement or apparatus; restraining or checking.”

ยนฺตฺร” ที่เป็นธาตุในสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

ยนฺตฺร : (คำที่เป็นธาตุ) ห้าม; to restrain or forbid.”

ยนฺตฺร” ที่เป็นธาตุในสันสกฤต แปลว่า ห้าม (to restrain or forbid) ความหมายนี้ตรงกับบาลีว่า “ยนฺตก” (ยัน-ตะ-กะ) แปลว่า กลอนหรือสลักประตู, ไม้หรือโลหะสำหรับปิดกั้น (a bolt) ใช้ในความหมายว่า ใส่กลอน, ใส่สลัก, ลั่นดาล หรือลั่นกุญแจ เพื่อป้องกันการบุกรุก (to put the bolt to, to lock up)

ยันต์” น่าจะมาจาก “ยนฺตฺยนฺตกยนฺตฺร” เพราะมีความมุ่งหมายในทางป้องกันภัยอันตรายเช่นเดียวกัน

นักเรียนบาลีและนักภาษาทั้งหลายมีความเห็นเป็นประการใด แสดงความเห็นสู่กันฟัง ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ที่ถูกต้องร่วมกัน

ขยายความ :

การสักยันต์ เป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของชายไทยในอดีต ถือว่าเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้ทนทานต่อศัสตราวุธ ที่เรียกว่า คงกระพันชาตรี เป็นวิธีป้องกันรักษาตัวอย่างหนึ่ง รวมสรรพคุณลงในคำว่า ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า กับอีกทางหนึ่ง คือเมตตามหานิยม ใครเห็นใครชม ใครเห็นใครรัก

ชนชาติหรือชุมชนต่าง ๆ อาจมีค่านิยมในการสักหรือสักยันต์แตกต่างกันออกไป 

ชายไทยสมัยหนึ่งนิยมสักอักษรขอมอ่านว่า “พ่อ” ไว้ที่ไหล่ขวา อ่านว่า “แม่” ไว้ที่ไหลซ้าย ตามหลักการปรนนิบัติบิดามารดาที่ท่านพรรณนาว่า แบกพ่อไว้ที่ไหลขวา แบกแม่ไว้ที่ไหล่ซ้าย นับว่าเป็นคติธรรมที่ดีอย่างหนึ่ง แต่ชายไทยสมัยนี้คงไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอย่างนั้นทำไม

ทุกวันนี้ ค่านิยมตามแนวเดิมคลายลงไปหมดแล้ว การสักยันต์ก็เบี่ยงเบนไป กลายเป็นสักรูปหรือลวดลายต่าง ๆ เพื่อความสวยงาม โก้เก๋ เท่ หรือแปลกดี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของตนเองให้เข้าใจ

: อย่าเพิ่งเย้ยไยไพว่าคนเก่าโง่เง่าเบาปัญญา

#บาลีวันละคำ (4,536)

12-11-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *