บาลีวันละคำ

ยุติธรรม – ธรรมยุต (บาลีวันละคำ 1,819)

ยุติธรรมธรรมยุต

คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน

ในที่นี้คำที่ควรรู้ความหมายมี 3 คำ คือ “ยุติ” “ยุต” และ “ธรรม

(๑) “ยุติ

บาลีเป็น “ยุตฺติ” (ต 2 ตัว มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) อ่านว่า ยุด-ติ รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุ (คือ ชฺ) กับ เป็น ตฺต + อิ ปัจจัย

: ยุชฺ + = ยุชต > ยุตฺต + อิ = ยุตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การประกอบ

ยุตฺติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การประยุกต์, การใช้ (application, use)

(2) ความเหมาะสม (fitness)

(3) (ความหมายทางตรรกศาสตร์) ความเหมาะสม, การแปลความที่ถูกต้อง, ความถูกต้องแห่งความหมาย ([logical] fitness, right construction, correctness of meaning)

(4) กลอุบาย, วิธีกระทำ, การปฏิบัติ (trick, device, practice)

บาลี “ยุตฺติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ยุติ” (ตัด ต ออกตัวหนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ยุติ– ๑ : (คำกริยา) ชอบ, ถูกต้อง. (ป. ยุตฺติ; ส. ยุกฺติ).

(2) ยุติ ๒ : (คำกริยา) ตกลง, จบ, เลิก, เช่น เรื่องนี้ยุติแล้ว ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป.

โปรดสังเกตว่า “ยุติ” ที่หมายถึง ชอบ, ถูกต้อง นั้น พจนานุกรมฯ เขียน “ยุติ-” (มีขีดท้าย) นั่นคือ ต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นในที่นี้คือ ยุติ + ธรรม = ยุติธรรม

(๒) “ยุต

บาลีเป็น “ยุตฺต” อ่านว่า ยุด-ตะ รากศัพท์มาจาก ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ปัจจัย, แปลงที่สุดธาตุ (คือ ชฺ) กับ เป็น ตฺต

: ยุชฺ + = ยุชต > ยุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบแล้ว

ยุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เทียมแอก, ใส่เครื่องสำหรับใช้งาน (yoked, harnessed)

(2) เข้าคู่, เชื่อมโยงกัน (coupled; connected with)

(3) อุทิศให้, ใช้กับ, คุ้นเคย, ประกอบ (devoted to, applied to, given to, engaged in)

(4) หาให้; กำหนด, ตระเตรียม, เรียบร้อย, พร้อม (furnished; fixed, prepared, in order, ready)

(5) สามารถ, เหมาะ (-ที่จะ หรือ-เพื่อจะ) (able, fit) (to or for)

(6) เหมาะเจาะ, พอเพียง (suitable, sufficient)

(7) เหมาะสม, ถูกต้อง (proper, right)

(8) เนื่องด้วย (due to)

(9) การมาบรรจบกัน หรือเข้าร่วมกัน (conjunction)

(๓) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

การประสมคำ :

(1) “ยุติธรรม

ยุตฺติ + ธมฺม = ยุตฺติธมฺม > ยุติธรรม (ยุด-ติ-ทำ) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมคือความถูกต้อง” ความหมายตามศัพท์คือ หลักการ หรือการปฏิบัติอย่างใดๆ ซึ่งเมื่อกระทำลงไปแล้วเกิดผลเป็นความถูกต้อง สมควร และมีเหตุผลอันทุกฝ่ายควรจะพึงพอใจ

หลักยุติธรรมแบบหนึ่งที่ปรากฏในคัมภีร์ คือ –

ทำเจ้าของให้เป็นเจ้าของ

ทำผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของให้ไม่เป็นเจ้าของ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ว่า –

ยุติธรรม : (คำนาม) ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล, เช่น ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการศาลยุติธรรม แต่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี. (คำวิเศษณ์) เที่ยงธรรม, ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล, เช่น ราคายุติธรรม กรรมการตัดสินอย่างยุติธรรม.”

(2) “ธรรมยุต

ธมฺม + ยุตฺต = ธมฺมยุตฺต > ธรรมยุต (ทำ-มะ-ยุด) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบในธรรม” หรือ “ประกอบด้วยธรรม

คำว่า “ธรรมยุต” เป็นคำเรียกพระสงฆ์ไทยนิกายหนึ่งซึ่งมีเหตุมาจากท่านผู้ก่อตั้งได้พิจารณาเห็นว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่ในเวลานั้น (สมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นไป) มีวัตรปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่ประกอบด้วยพระธรรมวินัย (คือเมื่อใช้หลักพระธรรมวินัยเข้าตรวจสอบแล้ว วัตรปฏิบัติหลายอย่างผิดไปจากพระธรรมวินัย) จึงได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่อีกนิกายหนึ่ง มุ่งเน้นการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย เรียกชื่อเต็มว่า “ธรรมยุติกนิกาย” (ทำ-มะ-ยุด-ติ-กะ-นิ-กาย) แปลว่า “หมู่แห่งผู้ประกอบด้วยธรรม” (“ธรรม” ในที่นี้หมายถึงพระธรรมวินัย) เรียกกันสั้นๆ ว่า “ธรรมยุต

สรุปความแตกต่างในแง่ความหมายของคำ ระหว่าง “ยุติธรรม” กับ “ธรรมยุต” ก็คือ –

ยุติธรรม” คือ การปฏิบัติอย่างใดๆ ซึ่งเมื่อกระทำลงไปแล้วมีเหตุผลอันทุกฝ่ายควรจะพึงพอใจ (จะตรงตามหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

ธรรมยุต” คือ คณะสงฆ์ที่มุ่งเน้นการมีวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย (จะมีใครพอใจหรือไม่ เป็นอีกประเด็นหนึ่ง)

ดูเพิ่มเติม :

ธรรมยุตมหานิกาย” บาลีวันละคำ (1,011) 23-2-58

ธรรมยุติกนิกาย” บาลีวันละคำ (1,299) 19-12-58

ยุติธรรม” บาลีวันละคำ (1,684) 13-1-60

…………..

ดูก่อนภราดา!

เราทุ่มเทให้กับการแก้ไขกฎหมายซึ่งยุติธรรมอยู่แล้ว

แต่ไม่เคยทุ่มเทให้กับการแก้ไขผู้ใช้กฎหมายซึ่งเป็นตัวการแห่งความไม่ยุติธรรม

: ถ้าหาความยุติธรรมไม่เจอ

: ก็จงทำมันขึ้นมาเอง

1-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย