นานาสังวาส [2] (บาลีวันละคำ 4,540)

นานาสังวาส [2]
ผลของความวิปลาสในการศึกษาพระธรรมวินัย
อ่านว่า นา-นา-สัง-วาด
ประกอบด้วยคำว่า นานา + สังวาส
(๑) “นานา”
อ่านตรงตัวเหมือนภาษาไทยว่า นา-นา เป็นคำจำพวก “นิบาต” ลักษณะเฉพาะของนิบาตคือ คงรูป ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย
“นานา” แปลตามศัพท์ว่า “อย่างนั้นอย่างนี้” (so and so) หมายถึง ต่าง ๆ, หลายอย่าง, ปนกันหลายอย่าง, ทุกชนิด (different, divers, various, motley; variously, differently, all kinds of)
คำไข :
“นานา” มีความหมายว่าอย่างไร คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 521 ไขความไว้ว่า “นานา” มีความหมายเท่ากับ วิวิธํ, อญฺโญญฺญํ, ปุถุ, น เอกํ
(1) วิวิธํ (วิ-วิ-ทัง) = หลายอย่าง, ต่างประการ, ปนกัน (divers, manifold, mixed)
(2) อญฺโญญฺญํ (อัน-โยน-ยัง) = แปลตามตัวว่า “อื่นและอื่น” หมายถึง ซึ่งกันและกัน, ต่อกันและกัน, เกี่ยวทั้งสองฝ่าย, ตอบแทนซึ่งกันและกัน (one another, each other, mutually, reciprocally)
(3) ปุถุ (ปุ-ถุ) = มากมาย, หลายอย่าง, ต่าง ๆ (numerous, various, several, more, many, most)
(4) น เอกํ (นะ เอ-กัง) = แปลตามตัวว่า “ไม่ใช่หนึ่ง” หมายถึง มาก, ต่าง ๆ กัน; นับไม่ได้, คำนวณไม่ได้ (“not one”, many, various; countless, numberless)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นานา : (คำวิเศษณ์) ต่าง ๆ. (ป.).”
โปรดระวัง : “นานา” เป็นคำบาลี นา + นา ใช้ “นา” คำเต็มทั้ง 2 คำ ไม่ใช่ นา + ๆ เหมือน ต่าง ๆ
อย่าเขียนผิดเป็น ต่าง ๆ นา ๆ
(๒) “สังวาส”
เขียนแบบบาลีเป็น “สํวาส” อ่านว่า สัง-วา-สะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = ร่วมกัน, พร้อมกัน) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วสฺ > วาส)
: สํ + วสฺ = สํวส + ณ = สํวสณ > สํวส > สํวาส แปลตามศัพท์ว่า “การอยู่ร่วมกัน” “การอยู่ด้วยกัน”
สํวาส” (ปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การอยู่ด้วยกัน, การอยู่ร่วมกัน (living with, co-residence)
(2) ความสนิทสนม (intimacy)
(3) การอยู่กินด้วยกัน, การร่วมประเวณี (cohabitation, sexual intercourse)
นานา + สํวาส = นานาสํวาส (นา-นา-สัง-วา-สะ) แปลตามศัพท์ว่า “อยู่ร่วมกันต่าง ๆ” แปลขยายความว่า “มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมที่ต่างกัน” หมายความว่า กิจบางอย่างที่ต้องทำร่วมกัน ( = สังวาส) แต่กลับทำร่วมกันไม่ได้ ต้องแยกไปทำต่างหาก ( = นานา)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นานาสํวาส” ว่า living in a different part, or living apart (อยู่ในที่ต่างกัน, แยกกันอยู่, มีสังวาสต่างกัน)
“นานาสํวาส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นานาสังวาส” (นา-นา-สัง-วาด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“นานาสังวาส : (คำนาม) การอยู่ร่วมต่างกัน (ใช้แก่พระสงฆ์ที่มีศีลไม่เสมอกัน ทำอุโบสถหรือสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“นานาสังวาส : (คำนาม) ‘การอยู่ร่วมต่างกัน’, การที่พระสงฆ์มีศีลไม่เสมอกัน ทำอุโบสถหรือสังฆกรรมร่วมกันไม่ได้.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “นานาสังวาส” ขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
นานาสังวาส : มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วม (คืออุโบสถและสังฆกรรมเป็นต้น) ที่ต่างกัน, สงฆ์ผู้ไม่ร่วมสังวาส คือ ไม่ร่วมอุโบสถและสังฆกรรมด้วยกัน เรียกว่าเป็นนานาสังวาสของกันและกัน เหตุที่ทำให้นานาสังวาสมี ๒ คือ ภิกษุทำตนให้เป็นนานาสังวาสเอง เช่น อยู่ในนิกายหนึ่งไปขอเข้านิกายอื่น หรือแตกจากพวกเพราะเหตุวิวาทาธิกรณ์อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งถูกสงฆ์พร้อมกันยกออกจากสังวาส
…………..
ขยายความ :
คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา เดิมเป็นกลุ่มเดียวกัน ทำกิจต่าง ๆ ตามที่กำหนดให้ทำร่วมกันด้วยดีเสมอมา ต่อมาเกิดความรังเกียจกันและกัน เช่นรังเกียจว่า กลุ่มนี้ประพฤติไม่ถูก ปฏิบัติไม่ถูก สอนไม่ถูก ไม่พอใจที่จะทำกิจต่าง ๆ ตามที่กำหนดให้ทำร่วมกันอีกต่อไป จึงแยกพวกออกไปจากกลุ่มเดิม ไปตั้งกลุ่มขึ้นใหม่
อย่างนี้แลคือ “นานาสังวาส”
พระพุทธศาสนามีหลักคือพระธรรมวินัย ถ้าศึกษาให้เข้าใจตรงกันและปฏิบัติตามนั้น ก็จะไม่ขัดแย้งกัน ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่า –
…………..
ตตฺถ สพฺเพเหว สมคฺเคหิ สมฺโมทมาเนหิ อวิวทมาเนหิ สิกฺขิตพฺพํ.
เราทั้งหมดพึงพร้อมเพรียงกัน เห็นพ้องต้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน ศึกษาสำเหนียกอยู่ในพระธรรมวินัยนั้นเถิด
ที่มา: วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 2 ข้อ 881
…………..
รากเหง้าใหญ่ของ “นานาสังวาส” ก็คือ ไม่ศึกษาเรียนรู้หลักพระธรรมวินัยให้เข้าใจถูกต้องตรงกัน
คิดไปตามที่เข้าใจเอาเอง
ปฏิบัติไปตามที่เข้าใจเอาเอง
สอนไปตามที่เข้าใจเอาเอง
อย่างนี้แลคือรากเหง้าของ “นานาสังวาส”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่าให้ผิดพลาด
: ก็ไม่ต้องเป็นนานาสังวาสกับใคร
#บาลีวันละคำ (4,540)
16-11-67
…………………………….
…………………………….