เมตตัมพุเสกวิธี (บาลีวันละคำ 3,048)
เมตตัมพุเสกวิธี
เมตตา: 1 ใน 8 วิธีเพื่อชัยชนะ
อ่านว่า เมด-ตำ-พุ-เส-กะ-วิ-ที
แยกศัพท์เป็น เมตตา + อัมพุ + เสก + วิธี
(๑) “เมตตา”
เขียนแบบาลีเป็น “เมตฺตา” (มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) รากศัพท์มาจาก –
(1) มิทฺ (ธาตุ = รักใคร่) + ต ปัจจัย, แผลง อิ ที่ มิ– เป็น เอ, ลบ ท ซ้อน ต + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มิทฺ > เมท > เม + ต = เมต + ต = เมตฺต + อา = เมตฺตา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รักใคร่”
(2) มิตฺต (มิตร, เพื่อน) + ณ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ มิ– เป็น เอ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มิตฺต > เมตฺต + ณ = เมตฺต + อา = เมตฺตา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่มีอยู่ในมิตร” หรือ “ธรรมชาติของมิตร”
“เมตฺตา” หมายถึง ความรัก, ความเป็นเพื่อน, ความเห็นอกเห็นใจกัน, ความเป็นมิตร, การเอาใจใส่ช่วยเหลือผู้อื่น (love, amity, sympathy, friendliness, active interest in others)
“เมตตา” เป็นธรรมข้อที่ 1 ในพรหมวิหาร 4
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
(1) เมตตา : ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข, แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า
(2) แผ่เมตตา : ตั้งจิตปรารถนาดีขอให้ผู้อื่นมีความสุข;
คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลักว่า –
“สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ”
แปลว่า “ขอสัตว์ทั้งหลาย, (ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน) หมดทั้งสิ้น,
(จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย,
(จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย,
(จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย, จงมีความสุขกายสุขใจ, รักษาตน (ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น) เถิด.”
[ข้อความในวงเล็บเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาในคำแปลเป็นไทย]
ผู้เจริญเมตตาธรรมอยู่เสมอ จนจิตมั่นในเมตตา มีเมตตาเป็นคุณสมบัติประจำใจ จะได้รับอานิสงส์ คือผลดี 11 ประการ คือ –
(1) หลับก็เป็นสุข
(2) ตื่นก็เป็นสุข
(3) ไม่ฝันร้าย
(4) เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
(5) เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
(6) เทวดาย่อมรักษา
(7) ไม่ต้องภัยจากไฟ ยาพิษ หรือศัสตราอาวุธ
(8) จิตเป็นสมาธิง่าย
(9) สีหน้าผ่องใส
(10) เมื่อจะตาย ใจก็สงบ ไม่หลงใหลไร้สติ
(11) ถ้ายังไม่บรรลุคุณพิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก
ข้อควรเข้าใจ :
(๑) “เมตตา” เป็นคุณธรรมที่สำเร็จได้ด้วยใจ หรือวัดกันที่ใจ
แม้ปากจะกล่าวคำแผ่เมตตา ถ้าใจไม่มีเมตตาจริง ก็ไม่สำเร็จเป็นเมตตา
แต่ถ้าใจมีเมตตาจริง แม้ไม่ได้กล่าวอะไรเลยก็สำเร็จเป็นเมตตาได้
(๒) วิธีฝึกให้ใจมีเมตตาจริงทางหนึ่งก็คือ เมื่อเห็นสัตว์บุคคลใดๆ ก็ตามให้ตั้งความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักที่สุดของเรา” แล้วปฏิบัติต่อสัตว์บุคคลนั้นๆ ในฐานเป็นเพื่อนรักที่สุด – ถ้าทำได้ นั่นแหละคือ “เมตตา”
(๒) “อัมพุ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อมฺพุ” (อำ-พุ) รากศัพท์มาจาก อมฺพฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อุ ปัจจัย
: อมฺพฺ + อุ = อมฺพุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ส่งเสียงได้” หมายถึง น้ำ (water)
(๓) “เสก”
บาลีอ่านว่า เส-กะ รากศัพท์มาจาก สิจฺ (ธาตุ = รด, ราด) ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ สิ-(จฺ) เป็น เอ, (สิจฺ > เสจฺ), แปลง จฺ เป็น ก
: สิจฺ + ณ = สิจณ > สิจ > เสจ > เสก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรด (น้ำ)”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสก” ว่า sprinkling (ประพรม)
คำที่เราคุ้นกันดีคือ “อภิเสก” (อภิเษก) ก็มาจาก “เสก” คำนี้
(๔) “วิธี”
บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: วิ + ธา > ธ = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ”
“วิธิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);
(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);
(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)
“วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.
(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.
(3) กฎ, เกณฑ์.
(4) คติ, ธรรมเนียม.
การประสมคำ :
๑ เมตฺตา + อมฺพุ ลบสระหน้า คือ อา ที่ (เมตฺ)-ตา (เมตฺตา > เมตฺต)
: เมตฺตา + อมฺพุ = เมตฺตามฺพุ > เมตฺตมฺพุ แปลว่า “น้ำคือเมตตา”
๒ เมตฺตมฺพุ + เสก = เมตฺตมฺพุเสก แปลว่า “การรดด้วยน้ำคือเมตตา”
๓ เมตฺตมฺพุเสก + วิธิ = เมตฺตมฺพุเสกวิธิ แปลว่า “วิธีคือการรดด้วยน้ำคือเมตตา”
“เมตฺตมฺพุเสกวิธิ” เขียนแบบไทยเป็น “เมตตัมพุเสกวิธี”
อธิบาย :
“เมตฺตมฺพุเสกวิธิ” หรือ “เมตตัมพุเสกวิธี” ถอดคำออกมาจาก “พุทธชยมังคลอัฏฐกคาถา” หรือคาถาพาหุงบทที่ 3 ข้อความในบาทคาถาว่า “เมตฺตมฺพุเสกวิธินา” ข้อความเต็มทั้งบทว่าดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
นาฬาคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ
ทาวคฺคิจกฺกมสนีว สุทารุณนฺตํ
เมตฺตมฺพุเสกวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
คำแปล :
พญาช้างชื่อนาฬาคิรี ตกมัน ดุร้ายยิ่งนัก
ประดุจไฟป่า จักราวุธ และสายฟ้า
พระจอมมุนีทรงเอาชนะได้ด้วยวิธีรดด้วยน้ำคือเมตตา
ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน
(สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก จากหนังสือ คาถาพาหุง)
ขยายความ :
ขยายความตามคาถาว่า พระเทวทัตประสงค์จะปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปหาอชาตศัตรูกุมารพระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ทำอุบายให้พระราชกุมารเลื่อมใส แล้วยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดาเสียเพื่อขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนพระเทวทัตเองจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าเพื่อขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าแทน
เมื่อได้รับการอุปถัมภ์จากอชาตศัตรูกุมารแล้ว พระเทวทัตก็ส่งขมังธนูไปสังหารพระพุทธองค์เป็นอันดับแรก พวกขมังธนูกลับพากันเลื่อมใสยอมเป็นพุทธสาวก พระเทวทัตก็ใช้แผนสอง โดยขึ้นไปซุ่มบนยอดเขาคิชฌกูฏแล้วกลิ้งหินลงมาหวังจะให้ทับพระพุทธองค์ ก็ไม่สำเร็จอีก ก้อนหินพลาดไปปะทะแง่หินอีกก้อนหนึ่ง สะเก็ดหินไปกระทบพระบาททำให้พระโลหิตห้อขึ้นเท่านั้น
ครั้งที่สาม พระเทวทัตให้ปล่อยช้างทรงชื่อนาฬาคิรีซึ่งกำลังตกมัน ดุร้ายจัด หมายจะให้ช้างร้ายแทงพระพุทธองค์เสียให้ดับสูญในขณะที่กำลังเสด็จออกบิณฑบาตในเวลาเช้ากลางกรุงราชคฤห์ พระอานนท์พุทธอุปัฏฐากซึ่งตามเสด็จอยู่เบื้องหลังได้ถลันขึ้นไปขวางหน้าช้างร้าย ยอมสละชีวิตตนเพื่อให้พระบรมศาสดาปลอดภัย
แต่ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาบารมีที่ทรงแผ่ไป ทำให้ช้างร้ายสงบความดุร้ายลงโดยพลันเสมือนได้น้ำอันเย็นชื่นฉ่ำชโลมใจ แทนที่แล่นถลาเข้ามาโถมแทง ก็กลับค่อยๆ เดินอย่างสงบเสงี่ยมเข้ามาหมอบลงแทบพระบาท ปรากฏแก่ตาชาวเมืองราชคฤห์โดยทั่วกัน
ชัยชนะโดยเมตตาธรรมครั้งนี้มิใช่ชนะเพียงช้างนาฬาคิรีเท่านั้น หากยังทำให้พระพุทธองค์ทรงชนะพระเจ้าอชาตศัตรูและพระเทวทัตอีกด้วย โดยพระเจ้าอชาตศัตรูทรงสำนึกผิดกลับพระทัยมาเลื่อมใสในพระพุทธองค์ ส่วนพระเทวทัตนั้นภายหลังก็ได้สำนึกผิดเช่นกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตอบโต้ด้วยกำลัง พังทั้งคู่
: ตอบโต้ด้วยเมตตาไมตรี สวัสดีทั้งหมู่
#บาลีวันละคำ (3,048)
16-10-63