บาลีวันละคำ

อุทิสสมังสะ (บาลีวันละคำ 4,542)

อุทิสสมังสะ

เนื้อที่พระห้ามฉัน

อ่านว่า อุ-ทิด-สะ-มัง-สะ

ประกอบด้วยคำว่า อุทิสส + มังสะ 

(๑) “อุทิสส

เป็นรูปคำบาลี เขียนแบบบาลีเป็น “อุทฺทิสฺส” ( 2 ตัว 2 ตัว, มีจุดใต้ ทฺ ตัวหน้า และ สฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อุด-ทิด-สะ เป็นรูปคำกิริยาที่บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “กิริยากิตก์” (คู่กับ “กิริยาอาขยาต”) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ทิสฺ (ธาตุ = ประกาศ; แสดง; ให้), ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ทฺ + ทิสฺ) + ตฺวา ปัจจัย, แปลง ตฺวา เป็น แล้วแปลง กับที่สุดธาตุเป็น สฺส 

: อุ + ทฺ + ทิสฺ = อุทฺทิสฺ + ตฺวา = อุทฺทิสฺตฺวา > อุทฺทิสฺย > อุทฺทิสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ประกาศขึ้นแล้ว” “มุ่งเฉพาะแล้ว” “ตั้งใจให้แล้ว

ขยายความแทรก : 

ตฺวา ปัจจัย เป็นปัจจัยในกิริยากิตก์ บอกอดีตกาล เวลาแปลต้องมีคำว่า “แล้ว” ต่อท้ายคำกริยา เช่น –

กตฺวา” (กรฺ ธาตุ = ทำ + ตฺวา ปัจจัย) แปลว่า “ทำแล้ว

ทตฺวา” (ทา ธาตุ = ให้ + ตฺวา ปัจจัย) แปลว่า “ให้แล้ว

อุทฺทิสฺส” (อุ + ทฺ + ทิสฺ = แสดง + ตฺวา ปัจจัย) ก็ควรจะแปลว่า “แสดงขึ้นแล้ว” “มุ่งเฉพาะแล้ว” หรือ “ตั้งใจให้แล้ว

แต่เพราะ “อุทฺทิสฺส” ใช้ทำหน้าที่กิริยาวิเสสนะ จึงไม่มีคำว่า “แล้ว” ต่อท้ายคำกริยา คงแปลแต่เพียงว่า “แสดงขึ้น” “มุ่งเฉพาะ” หรือ “ตั้งใจให้” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุทฺทิสฺส” ไว้ดังนี้ –

(1) (ใช้ในความหมายทั่วไป) indicating, with signs or indications (แสดง, มีเครื่องหมายหรือการแสดงออก) 

(2) (ใช้เป็นกิริยาวิเสสนะ) –

(ก) pointing to, tending towards, towards, to (บ่งชี้ไปยัง, หันไปทาง, ไปทาง, ไปยัง) 

(ข.) with reference to, on account of, for, concerning (ในเรื่อง, เนื่องด้วย, สำหรับ, เกี่ยวกับ) 

…………..

คำว่า “แสดงขึ้น” “มุ่งเฉพาะ” หรือ “ตั้งใจให้” เป็นคำแปลตามศัพท์ คำแปลตามความหมายที่นักเรียนบาลีนิยมใช้ในการแปลคำนี้คือ “เจาะจง

: “อุทฺทิสฺส” = “เจาะจง

อุทฺทิสฺส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุทิศ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อุทิศ : (คำกริยา) ให้, ยกให้, เช่น อุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ตายตามประเพณี; ทำเพื่อ, สละให้โดยเจาะจง. (ส. อุทฺทิศฺย; ป. อุทฺทิสฺส ว่า เจาะจง).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อุทิศ” ช่วยให้เห็นความหมายในภาษาบาลีไว้ดังนี้ –

…………..

อุทิศ : เฉพาะ, เจาะจง, เพ่งเล็งถึง, ทำเพื่อ, หมายใจต่อ, มุ่งให้แก่, มุ่งไปยัง, มุ่งไปที่ (ดังตัวอย่างในประโยคต่างๆ ว่า “เขาออกบวชอุทิศพระพุทธเจ้า”, “เธอให้ทานอุทิศหมู่ญาติ”, “พระเถระเดินทางไกลจากเมืองสาวัตถีอุทิศหมู่บ้านนั้น”, “นายวาณิชลงเรือออกมหาสมุทรอุทิศสุวรรณภูมิ”); ในภาษาไทย มักใช้ในความหมายที่สัมพันธ์กับประเพณีการทำบุญเพื่อผู้ล่วงลับ หมายถึง ตั้งใจทำการกุศลนั้นโดยมุ่งให้เกิดผลแก่ผู้ตายที่ตนนึกถึง 

…………..

(๒) “มังสะ

เขียนแบบบาลีเป็น “มํส” อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

อุทฺทิสฺส + มํส = อุทฺทิสฺสมํส (อุด-ทิด-สะ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้ออันเขาเจาะจง” 

อุทฺทิสฺสมํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุทิสสมังสะ” (ตัด ทฺ ตัวซ้อนออก) จะเขียนแบบไทยเป็น “อุทิศมังสะ” ก็ได้ แต่ในที่นี้ขอใช้ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ อธิบายคำว่า “อุทิสสมังสะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

อุทิสสมังสะ : เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อถวายภิกษุ ท่านมิให้ภิกษุฉัน, หากภิกษุฉันทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติทุกกฏ; ตรงข้ามกับ ปวัตตมังสะ 

…………..

ที่คำว่า “ปวัตตมังสะ” พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ บอกไว้ดังนี้ –

…………..

ปวัตตมังสะ : เนื้อที่มีอยู่แล้ว คือเนื้อสัตว์ที่เขาขายอยู่ตามปกติสำหรับคนทั่ว ๆ ไปไม่ใช่ฆ่าเพื่อเอาเนื้อมาถวายพระ; ตรงข้ามกับ อุทิสสมังสะ 

…………..

ขยายความ :

เงื่อนไขแห่ง “อุทิสสมังสะ” อยู่ที่คำว่า “ได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัย” 

เรื่องนี้ มีพระพุทธพจน์ตรัสแก่หมอชีวกโกมารภัจ ดังนี้ –

…………..

ตีหิ  โข  อหํ  ชีวก  ฐาเนหิ  มํสํ  อปฺปริโภคนฺติ  วทามิ  ทิฏฺฐํ  สุตํ  ปริสงฺกิตํ  อิเมหิ  โข  อหํ  ชีวก  ตีหิ  ฐาเนหิ  มํสํ  อปฺปริโภคนฺติ  วทามิ  

ดูก่อนชีวก เรากล่าวว่าเนื้อเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ 3 ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนสงสัย ดูก่อนชีวก เรากล่าวว่าเนื้อเป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ 3 ประการนี้แล

ตีหิ  โข  อหํ  ชีวก  ฐาเนหิ  มํสํ  ปริโภคนฺติ  วทามิ  อทิฏฺฐํ  อสุตํ  อปริสงฺกิตํ  อิเมหิ  โข  อหํ  ชีวก  ตีหิ  ฐาเนหิ  มํสํ  ปริโภคนฺติ  วทามิ  ฯ

ดูก่อนชีวก เรากล่าวว่าเนื้อเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ 3 ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้สงสัย ดูก่อนชีวก เรากล่าวว่าเนื้อเป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ 3 ประการนี้แล

ที่มา: ชีวกสูตร พระไตรปิฎกเล่ม 13 ข้อ 57

…………..

ขยายความเพื่อให้เข้าใจชัด ๆ 

ภิกษุไปเยี่ยมบ้านโยม ถึงเวลาฉันเพล –

1- “ได้เห็น” คือได้เห็นโยมไล่จับไก่หรือกำลังเชือดไก่ พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่ 

2- “ได้ยิน” คือไม่เห็น แต่เด็กในบ้านมากระซิบว่า “หลวงพี่ เดี๋ยวโยมเขาจะเชือดไก่แกงถวาย” พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่ 

3- “สงสัย” คือไม่ได้เห็นกับตา ทั้งไม่มีใครมาบอก แต่สังเกตเห็นว่าไก่ที่เคยเห็นเดินอยู่ในบ้านหายไป พอได้เวลาฉันเพล โยมถวายแกงไก่

ถ้าเข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวนี้ เนื้อสัตว์นั้นจัดว่าเป็น “อุทิสสมังสะ” พระฉันไม่ได้

ถ้าไม่เข้าข่ายดังกล่าวนี้ พระฉันได้

…………..

แถม :

กินเนื้อสัตว์ บาปหรือไม่บาป

กินเนื้อสัตว์ เป็นผลดีหรือเป็นผลเสียต่อสุขภาพ

เป็นคนละประเด็นกับ-เนื้อแบบไหนพระฉันได้ เนื้อแบบไหนห้ามฉัน

อย่าลากเอามาปนกัน

…………..

ศึกษาชีวกสูตรที่ลิงก์นี้

https://84000.org/tipitaka/read/?13/56-61

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่กินเนื้อสัตว์ ดี

: ด่าคนที่กินเนื้อสัตว์ ไม่ดี

#บาลีวันละคำ (4,542)

18-11-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *