บาลีวันละคำ

ผลประโยชน์ [2] (บาลีวันละคำ 4,541)

ผลประโยชน์ [2]

คุณและโทษอยู่ที่-ของใครและเพื่อใคร

อ่านว่า ผน-ปฺระ-โหฺยด

ประกอบด้วยคำว่า ผล + ประโยชน์ 

(๑) “ผล

บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + (อะ) ปัจจัย

: ผลฺ + = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร” 

ผล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)

(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)

(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)

ในที่นี้ “ผล” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

บาลี “ผล” สันสกฤตก็เป็น “ผล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

ผล : (คำนาม) ‘ผล,’ ผลทั่วไป; ผล, อวสาน; บุณโยทัย, สมบัทหรือความรุ่งเรือง; ลาภ, กำไร; รางวัล; โล่; ใบพร้า; หัวลูกศร; ผลจันทน์เทศ; ฤดูของสตรี; ทาน, การให้; ผาล; คุณย์; ผลที่ได้จากการหาร; เนื้อที่ในวงก์กลม, เกษตรผลหรือเนื้อนา, ฯลฯ; สมีกรณ์, สามยะ, หรือบัญญัติตราชู; fruit in general; fruit, result or consequence; prosperity; gain, profit; reward; a shield; the blade of a knife; the head of an arrow; a nutmeg; the menstrual discharge; gift, giving; a ploughshare; the quotient of a sum; the area of a circle, the area of the field, &c.; an equation.”

ผล” ในภาษาไทยอ่านว่า ผน เป็นคำนาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(๑) ส่วนของพืชที่เจริญมาจากรังไข่ เช่น ผลมะม่วง ผลมะปราง. 

(๒) สิ่งที่เกิดจากการกระทำ เช่น ผลแห่งการทำดี ผลแห่งการทำชั่ว. 

(๓) ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น ทำนาได้ผล เรียนได้ผล. 

(๔) ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล, คู่กับ มรรค. 

(๕) ลักษณนามเรียกผลไม้ เช่น มะม่วง ๒ ผล มะปราง ๓ ผล. 

(๖) จำนวนที่ได้จากการคำนวณ เช่น ๕ กับ ๗ บวกกัน ได้ผลเท่ากับ ๑๒, ผลลัพธ์ ก็ว่า. 

(๒) “ประโยชน์

บาลีเป็น “ปโยชน” อ่านว่า ปะ-โย-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ยุชฺ (ธาตุ = ประกอบ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช), แปลง ยุ ปัจจัยเป็น อน (อะ-นะ)

: + ยุชฺ = ปยุชฺ > ปโยช + ยุ > อน = ปโยชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงประกอบ” 

ปโยชน” ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เข้าใจกันในภาษาไทย คือหมายถึง –

(1) การประกอบการ, ธุรกิจ (undertaking, business)

(2) การแต่งตั้ง, การกำหนด (appointment)

(3) กฎ, คำสั่ง, ข้อห้าม (prescript, injunction)

(4) ความประสงค์, การประยุกต์ใช้, การใช้ให้เป็นประโยชน์ (purpose, application, use)

บาลี “ปโยชน” สันสกฤตเป็น “ปฺรโยชน” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ) 

ปฺรโยชน : (คำนาม) ‘ประโยชน์’, เหตุ; อวกาศหรือโอกาศ; มูล; การย์; ทรัพย์หรือพัสดุ; ความมุ่งหมาย, จินดาหรืออุบายในใจ cause; occasion; origin; purpose; object; intention; design.”

ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ประโยชน์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประโยชน์ : (คำนาม) สิ่งที่มีผลใช้ได้ดีสมกับที่คิดมุ่งหมายไว้, ผลที่ได้ตามต้องการ, สิ่งที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณ, เช่น ประโยชน์ของการศึกษา ประโยชน์ของโรงเรียน. (ส. ปฺรโยชน; ป. ปโยชน).”

ผล + ประโยชน์ = ผลประโยชน์ เป็นคำประสมแบบคำซ้อน คือ ทั้ง “ผล” และ “ประโยชน์” มีความหมายเหมือนกัน

ผล” ก็คือ “ประโยชน์

ประโยชน์” ก็คือ “ผล” 

ผลประโยชน์” หมายถึง สิ่งที่ได้รับ-ซึ่งหมายรวมถึงทรัพย์สินเงินทอง สิทธิพิเศษ หรือความสะดวกสบายเป็นต้น-จากบุคคล กิจการ กิจกรรม สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม

คำว่า “ผลประโยชน์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

คำว่า “ผลประโยชน์” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า interest, gain

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล interest เป็นบาลี ดังนี้: 

(1) attha อตฺถ (อัด-ถะ) = สิ่งที่ต้องการ, ความประสงค์

(2) payojana ปโยชน (ปะ-โย-ชะ-นะ) = ประโยชน์

(3) anurāga อนุราค (อะ-นุ-รา-คะ) = ความสนใจ, สิ่งที่น่าสนใจ

(4) vaḍḍhi วฑฺฒิ (วัด-ทิ) = กำไร, รายได้

และแปล gain เป็นบาลี ดังนี้: 

(1) lābha ลาภ (ลา-พะ) = รายได้, ผลประโยชน์

(2) āya อาย (อา-ยะ) = ผลกำไร

(3) phalodaya ผโลทย (ผะ-โล-ทะ-ยะ) = เกิดผล, ได้ผลตอบแทน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าทำเพื่อผลประโยชน์ของแผ่นดิน ก็จะได้ผลประโยชน์ด้วยกันทุกคน

: ถ้าทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ก็จะนำไปสู่หายนะหมดทั้งแผ่นดิน 

#บาลีวันละคำ (4,541)

17-11-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *