ปาเรไลยก์ (บาลีวันละคำ 4,544)

ปาเรไลยก์
ควรสะกดอย่างไร
รากศัพท์มาจากไหน
คำนี้ คนทั้งหลายมักออกเสียงว่า ป่า-เล-ไล หรือไม่ก็ ป่า-เร-ไร
และถ้าให้เขียน ก็จะสะกดเป็น “ป่าเลไล” หรือ “ป่าเรไร”
วัดสำคัญในจังหวัดสุพรรณบุรีที่มีชื่อออกเสียงแบบนี้ สะกดชื่อเป็น “วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร”
ชื่อพยางค์แรก คือ “ปา-” มักออกเสียงกันว่า ป่า ที่หมายถึงป่าไม้
เขียนเป็นตัวอักษรก็สะกดเป็น “ป่า-” ไปด้วย
เรียกกันสั้น ๆ ก็เรียก “วัดป่า” ที่หมายถึงวัดที่อยู่ในเขตป่า
วัดในเมืองไทยมี 2 ประเภท ถ้าใช้คำเลียนแบบคำเรียกคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระว่า “คามวาสี” คำเรียกคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระว่า “อรัญวาสี” ก็อนุโลมเรียกได้ว่า –
วัดคามิกาวาส คือวัดที่อยู่ในเมือง เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ
วัดอรัญญิกาวาส คือวัดที่อยู่ในป่า เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
เรียกล้อกันก็คือ –
วัดคามิกาวาส = วัดบ้าน
วัดอรัญญิกาวาส = วัดป่า
เพราะฉะนั้น คำเรียกวัด “ป่าเลไลยก์” ว่า “วัดป่า” จึงอาจมีความหมายเป็น 2 นัย –
นัยหนึ่ง เรียกในฐานะเป็นวัดอรัญญิกาวาส คือเข้าใจว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในป่าจริง ๆ
นัยหนึ่ง เรียกในฐานะเป็นชื่อย่อของ “วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร” คือไม่ได้คิดว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในป่า แต่เรียกเช่นนั้นเพราะมีคำขึ้นต้นว่า “ป่า”
ถามว่า เสียงที่เรียกวัดนี้ว่า ป่า-เล-ไล ควรสะกดอย่างไร?
วัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญที่เรียกว่า ปางป่าเลไลยก์ เป็นปางที่ว่าด้วยพระพุทธเจ้าทรงปลีกพระองค์จากพระสงฆ์ผู้แตกกันในกรุงโกสัมพี เสด็จถึงบ้านปาริเลยยกะ ทรงจำพรรษาในป่ารักขิตวัน มีช้างชื่อปาริเลยยกะและลิงตัวหนึ่งคอยปรนนิบัติ พระพุทธรูปปางนี้ทำเป็นรูปช้างและลิงประกอบเข้าไว้เป็นสำคัญ

เป็นอันได้หลักฐานว่า ชื่อตามที่ออกเสียง “ป่า-เล-ไล” มาจากชื่อบ้านและเป็นชื่อช้างด้วย
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 หน้า 52 (โกสมฺพิกวตฺถุ) ปรากฏชื่อบ้านและชื่อช้างว่า “ปาริเลยฺยก” (ปา-ริ-เลย-ยะ-กะ, –ริ– ร เรือ)
แต่ชื่อนี้ในที่บางแห่ง ทั้งในพระไตรปิฎกและอรรถกถา สะกดเป็น “ปาลิเลยฺยก” –ลิ– ล ลิง ก็มี แต่หลายแห่งที่สะกด –ลิ– ล ลิง จะมีเชิงอรรถบอกไว้ว่า คัมภีร์ฉบับสิงหลและฉบับยุโรป เป็น –ริ– ร เรือ
เป็นอันสรุปได้ว่า ชื่อนี้ที่เป็น “ปาริเลยฺยก” -ริ- ร เรือ เป็นคำที่พบมากกว่า
“ปาริเลยฺยก” เขียนแบบไทยเป็น “ปาริเลยยกะ” แผลงเป็นไทยควรเป็น “ปาริไลยก์” หรือ “ปาเรไลยก์”
พยางค์แรก “ปา-” ไม่ใช่ ป่า ที่หมายถึงป่าไม้
เวลาพูดเสียงอาจจะเพี้ยนไปได้ แต่เมื่อเขียนเป็นตัวอักษร ควรสะกดให้คล้อยตามคำเดิม คือเป็น “ปา-” ไม่ใช่ “ป่า-”
ทั้งชื่อวัดและชื่อปางพระพุทธรูป ควรสะกดเป็น “ปาริไลยก์” หรือ “ปาเรไลยก์”
แต่คนคุ้นกับเสียง –เร– มากกว่าเสียง –ริ– จึงควรสะกดเป็น –

วัดปาเรไลยก์
พระพุทธรูปปางปาเรไลยก์
“ปา-” ไม่ใช่ “ป่า-”
“-เร-” ไม่ใช่ “-เล-”

ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ปาริเลยยกะ” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
ปาริเลยยกะ : ชื่อแดนบ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองโกสัมพีที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวันด้วยทรงปลีกพระองค์ จากพระสงฆ์ผู้แตกกันในกรุงโกสัมพี; ช้างที่ปฏิบัติพระพุทธเจ้าที่ป่านั้นก็ชื่อ ปาริเลยยกะ; เราเรียกกันในภาษาไทยว่า ปาเลไลยก์ ก็มี ป่าเลไลยก์ ก็มี ควรเขียน ปาริไลยก์ หรือ ปาเรไลยก์
…………..
หมายเหตุ: ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบรากศัพท์ของคำว่า “ปาริเลยฺยก” นักเรียนบาลีท่านใดทราบรากศัพท์ของคำนี้ ถ้าจะกรุณานำมาบอกกล่าวร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราไม่สามารถห้ามไม่ให้พูดเพี้ยนเขียนผิดได้
: แต่เรื่องที่พูดเพี้ยนเขียนผิด เราสามารถรู้ทันได้
#บาลีวันละคำ (4,544)
20-11-67
…………………………….
…………………………….