บาลีวันละคำ

อนุญาโตตุลาการ (บาลีวันละคำ 4,545)

อนุญาโตตุลาการ

คำเก่า แต่ก็ไม่เกินกาลที่จะทำความรู้จัก

อ่านว่า อะ-นุ-ยา-โต-ตุ-ลา-กาน

ประกอบด้วยคำว่า อนุญาโต + ตุลาการ

(๑) “อนุญาโต” 

คำนี้ ถ้าไม่ได้มาจากภาษาเฉพาะกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดูตามที่ตาเห็นก็เป็นภาษาบาลีที่มีวิภัตติปัจจัยติดอยู่ด้วย รูปคำที่เราคุ้นกันในภาษาไทยคือ “อนุญาต” บาลีเป็น “อนุญฺญาต” อ่านว่า อะ-นุน-ยา-ตะ โปรดสังเกตว่า มี ญฺ สะกดอีกตัวหนึ่งระหว่าง อนุ กับ ญาต 

อนุญฺญาต” ในบาลีเป็นคำกริยาประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “กิริยากิตก์” คู่กับ “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก อนุ + ญฺ + ญาต

(ก) “อนุ” (อะ-นุ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า “อนุ = น้อย, ภายหลัง, ตาม

(ข) “ญาต” (ยา-ตะ) รากศัพท์มาจาก ญา (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

-ปัจจัยนี้เมื่อประกอบหลังธาตุ ทำให้คำนั้นมีฐานะเป็นคำกริยา

: ญา + = ญาต แปลตามศัพท์ว่า “อัน-รู้แล้ว” หมายถึง สิ่งที่ถูกรู้, เรื่องที่รับรู้ 

อนุ + ญฺ + ญาต = อนุญฺญาต แปลว่า “อัน-ตามรู้แล้ว” “อัน-รู้แล้วภายหลัง” หมายถึง มีกิจ มีความประสงค์ มีเรื่องราวอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นก่อน แล้วมีผู้ตามไปรับรู้ทีหลัง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุญฺญาต” ว่า permitted, allowed; sanctioned, given leave, ordained (ได้รับอนุญาต, ได้รับอนุมัติ, ได้รับการยินยอม, ได้รับอนุญาตให้ไป, ได้รับอนุญาตให้บวช)

บาลี “อนุญฺญาต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุญาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อนุญาต : (คำกริยา) ยินยอม, ยอมให้, ตกลง. (ป. อนุญฺญาต).”

โปรดสังเกตว่า คำเดิมในภาษาบาลีเป็น –ญาต ไม่ใช่ –ญาติ 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเขียน “อนุญาต” (-ญา เต่า ไม่ต้องมีสระ อิ) ไม่ใช่ “อนุญาติ” 

อนุญฺญาต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อนุญฺญาโต” ใช้ในที่นี้เป็น “อนุญาโต

(๒) “ตุลาการ

อ่านว่า ตุ-ลา-กาน แยกศัพท์เป็น ตุลา + การ

(ก) “ตุลา” อ่านว่า ตุ-ลา รากศัพท์มาจาก ตุลฺ (ธาตุ = กะ, ประมาณ, ชั่ง) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ตุลฺ + = ตุล + อา = ตุลา แปลตามศัพท์ว่า “อุปกรณ์เป็นเครื่องชั่ง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตุลา” ดังนี้ –

(1) a beam or pole for lifting, carrying or supporting, a rafter (ขื่อหรือปั้นจั่นสำหรับยก, พาไปหรือค้ำ, จันทัน) 

(2) a weighing pole or stick, scales, balance (คานสำหรับชั่งน้ำหนัก, คันชั่ง, เครื่องชั่ง) 

(3) fig. measure [“weighing,” cp. tulanā], standard, rate (ความหมายเชิงอุปมา. มาตร [“การชั่งน้ำหนัก,” เทียบ ตุลนา], มาตรฐาน, ระดับ)

ในที่นี้ “ตุลา” ใช้ในความหมายว่า การชั่งน้ำหนัก หมายถึงการเปรียบเทียบให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรควรเป็นอะไรอย่างไร เพื่อตัดสินเรื่องนั้น ๆ ให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น

(ข) “การ” บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” 

การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)

ตุลา + การ = ตุลาการ (ตุ-ลา-กา-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำการชั่งน้ำหนัก”หรือ “ผู้ทำตาชั่ง” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่พิจารณาเปรียบเทียบแล้วตัดสินให้มีความเที่ยงตรงประดุจยกขึ้นวางบนตาชั่ง

คำว่า “ตุลาการ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

“ตุลาการ : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) ผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี.”

อนุญาโต + ตุลาการ = อนุญาโตตุลาการ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำการชั่งน้ำหนักที่ได้รับอนุญาต” หรือ “ตุลาการผู้ได้รับอนุญาต

อนุญาโตตุลาการ” ถ้าแสดงรูปคำเดิมในบาลีก็จะเป็น “อนุญฺญาโต  ตุลากาโร” 

เมื่อยุบรวมกัน หรือที่หลักบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “สมาส” เข้าด้วยกัน ก็ควรจะเป็น “อนุญฺญาตตุลากาโร” (อะ-นุน-ยา-ตะ-ตุ-ลา-กา-โร) 

ลบวิภัตติท้ายศัพท์ออกก็จะเป็น “อนุญฺญาตตุลาการ” (อะ-นุน-ยา-ตะ-ตุ-ลา-กา-ระ)

เขียนแบบไทยก็จะเป็น “อนุญาตตุลาการ” อ่านตามหลักการอ่านคำสมาสว่า อะ-นุ-ยา-ตะ-ตุ-ลา-กาน

แต่ชะรอยผู้บัญญัติศัพท์นี้จะเกรงไปว่า ถ้าเขียนอย่างนี้คนก็จะอ่านว่า อะ-นุ-ยาด-ตุ-ลา-กาน ทำให้รู้สึกว่าความหมายจะเพี้ยนไป จึงคงวิภัตติที่ “อนุญฺญาโต” ไว้ เขียนแบบไทยเป็น “อนุญาโต” รวมกับ “ตุลาการ” เป็น “อนุญาโตตุลาการ” ตามที่ปรากฏ และถือว่าเป็นศัพท์เฉพาะในทางกฎหมาย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

อนุญาโตตุลาการ : (คำนาม) บุคคลที่คู่กรณีพร้อมใจกันตั้งขึ้นเพื่อให้ชำระตัดสินในข้อพิพาท; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลคนเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีในสัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ชี้ขาด.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ ตัดข้อความส่วนที่เป็น “คำที่ใช้ในกฎหมาย” ออก เหลือเพียง – 

อนุญาโตตุลาการ : (คำนาม) บุคคลที่คู่กรณีพร้อมใจกันตั้งขึ้นเพื่อให้ชำระตัดสินในข้อพิพาท.”

ขยายความ :

กระบวนการอนุญาโตตุลาการ คือ การระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่คู่กรณีพร้อมใจกันเลือกบุคคลภายนอกมาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาท โดยคู่กรณียินยอมที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น

บุคคลภายนอกที่คู่กรณีพร้อมใจกันเลือกมาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทนี้แหละ เรียกว่า “อนุญาโตตุลาการ” 

บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “อนุญาโตตุลาการ” จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มีความเป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับคู่กรณี และมีความรู้ความสามารถในเรื่องที่พิพาทนั้น

คดีที่สามารถตั้ง “อนุญาโตตุลาการ” ได้ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กฎหมายยุติธรรมเสมอ

: ผู้ใช้กฎหมายต่างหากที่ไม่ยุติธรรม

#บาลีวันละคำ (4,545)

21-11-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *