บาลีวันละคำ

ขออารักขา (บาลีวันละคำ 1,021)

ขออารักขา

คำไทยผสมบาลี : ขอ + อารักขา

อารักขา” บาลีเขียน “อารกฺขา” อ่านว่า อา-รัก-ขา

อารกฺขา” ประกอบด้วย อา (ทั่วไป, ยิ่งขึ้นไป) + รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + ปัจจัย + อา ปัจจัยอิตถีลิงค์

: อา + รกฺขฺ + = อารกฺข + อา = อารกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “การดูแลทั่วไป” หมายถึง การอารักขา, การดูแล, การป้องกัน, การเอาใจใส่, การระมัดระวัง (watch, guard, protection, care)

เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “อารกฺขา” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้

ความหมายของ รกฺขติ :

(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)

(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals])

(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])

อารกฺขา” สันสกฤตเป็น “อารกฺษา

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

อารกฺษ : (คำนาม) การคุ้มครองหรือรักษา; protection or preservation;- (คุณศัพท์) อันป้องกันหรือคุ้มครองรักษาแล้ว, มีผู้อภิบาล, อันน่าอภิบาล; defended or preserved, having a protector, worthy to be preserved.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อารักขา : (คำกริยา) ป้องกัน, คุ้มครอง, ดูแล. (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อารักขา : การขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง เมื่อมีผู้ปองร้ายข่มเหง หรือถูกลักขโมยสิ่งของเป็นต้น เรียกว่า ขออารักขา ถือเป็นการปฏิบัติชอบตามธรรมเนียมของภิกษุแทนการฟ้องร้องกล่าวหาอย่างที่ชาวบ้านทำกัน เพราะสมณะไม่พอใจจะเป็นถ้อยความกับใครๆ”

หลักการ :

ระบบวิถีชีวิตของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาไม่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรง เมื่อมีกรณีที่จำเป็นต้องใช้กำลังบังคับ ท่านให้ “ขออารักขา” คือขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้ามาจัดการแทนการลงมือปฏิบัติการเอง

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก :

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวไว้ว่า แต่เดิมพระพุทธเจ้าทรงแสดงปาติโมกข์แก่ภิกษุสงฆ์ด้วยพระองค์เอง ต่อมาถึงวันอุโบสถคราวหนึ่ง พระสงฆ์ประชุมกันพร้อมแล้ว แต่พระพุทธองค์ไม่เสด็จมาเข้าร่วมประชุม ตรัสว่า “บริษัทไม่บริสุทธิ์” (คือมีภิกษุอลัชชีอยู่ในที่ประชุมสงฆ์นั้นด้วย) ร้อนถึงพระมหาโมคคัลลานะอัครสาวกผู้เลิศในทางฤทธิ์ตรวจดูจนพบตัวอลัชชีผู้นั้น ท่านขอร้องแต่โดยดีถึง 3 ครั้งให้ออกไปเสีย แต่ภิกษุอลัชชีนั้นกลับนั่งนิ่งเฉย ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะต้อง “ใช้กำลัง” จับตัวออกไปจากที่ประชุม ตั้งแต่บัดนั้นมาพระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงเข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับภิกษุสงฆ์อีกเลย

ปัจจุบันถ้ามีกรณีเช่นนี้หรือทำนองเดียวกันนี้ ใครควรจะแสดงบทบาทพระมหาโมคคัลลานะ ?

: โบราณว่าถ้าเหลือกำลังลาก

: ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม

(พระอภัยมณี ตอนที่ ๕)

5-3-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย