บาลีวันละคำ

ปฏิวัติ [2] (บาลีวันละคำ 735)

ปฏิวัติ [2]

อ่านว่า ปะ-ติ-วัด

บาลีเป็น “ปฏิวตฺติ” อ่านว่า ปะ-ติ-วัด-ติ

ประกอบด้วย ปฏิ + วตฺติ

ปฏิ” เป็นคำอุปสรรค ใช้นำหน้าคำอื่น มีความหมายว่า เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ

ในที่นี้น้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “กลับ” หรือ “ทวน

วตฺติ” จากคำกริยา ปฐมบุรุษ เอกพจน์ “วตฺตติ” แปลว่า เคลื่อน, ดำเนินไป, ไปต่อไป, เกิดขึ้น, เป็นไป; ดำรงอยู่; มีชีวิตอยู่, เป็นอยู่; กระทำ (to move, go on, proceed; to happen, take place, to be; to be in existence; to fare, to do)

เมื่อเอาคำว่า “กลับ” = ปฎิ มาพูดควบ ก็จะได้ความตามตัวอย่าง เช่น –

เคลื่อน = เคลื่อนกลับ

ดำเนินไป = ถอยกลับ

ไปต่อไป = หยุด, ถอย

เกิดขึ้น = กลับมาเกิดซ้ำ

คำกริยา “วตฺตติ” ในบาลี ถ้าสะกดเป็น “วฏฺฏติ” (ฏ ปฏัก) จะได้ความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ หมุนไปรอบ, เคลื่อนไป (to turn round, to move on)

วฏฺฏติ” คำนามเป็น “วฏฺฏ” หมายถึง รอบ, กลม, วงกลม (round, circular, circle) เช่นคำว่า “วัฏสงสาร” หรือ “สังสารวัฏ” ที่หมายถึง การเวียนตายเวียนเกิด

ปฏิวัติ” น่าจะมาจากศัพท์เดิม ปฏิ + วฏฺฏ (ฏ ปฏัก) แปลว่า “หมุนกลับ” หรือ “หมุนทวน” คือแทนที่จะหมุนไปข้างหน้าตามปกติ ก็กลายเป็นหมุนย้อนกลับหลัง เป็นสำนวนหมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เป็นไปตามปกติ

ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

ปฏิวัติ : การหมุนกลับ, การผันแปรเปลี่ยนหลักมูล; การเปลี่ยนแปลงระบบ เช่น ปฏิวัติอุตสาหกรรม, การเปลี่ยนแปลงระบอบการบริหารบ้านเมือง เช่น ปฏิวัติการปกครอง”

ปฏิวัติ” ตามความหมายนี้ ตรงกับคำอังกฤษว่า revolution

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล revolution เป็นบาลีว่า –

(1) อาวฏฺฏน (อา-วัด-ตะ-นะ) = การเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง

(2) วิวฏฺฏน (วิ-วัด-ตะ-นะ) = การเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ

(3) รชฺชวิปลฺลาส (รัด-ชะ-วิ-ปัน-ลา-สะ) = การเปลี่ยนขั้วอำนาจในแผ่นดินอย่างพลิกผัน

: ถ้าสังคมกำลังสุขสวัสดิ์ ปฏิวัติก็อัปรีย์

: ถ้าสังคมกำลังวิบัติ ปฏิวัติได้ก็ดี

————-

หมายเหตุ :

คำว่า “ปฏิวัติ” นี้เสนอเป็นบาลีวันละคำเป็นครั้งแรก คำที่ (630) เมื่อ 5-2-57 นำกลับมาเสนอซ้ำตามคำถามของญาติมิตรหลายท่าน และถือโอกาสแก้ไขถ้อยคำบางแห่งที่ครั้งก่อนอ้าง พจน.42 ทั้งนี้เพื่อให้ตรงตาม พจน.54

22-5-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *