อุปมาปาราชิก (บาลีวันละคำ 1,022)
อุปมาปาราชิก
คำว่า “ปาราชิก” รากศัพท์มาจาก ปรา (กลับความเป็นตรงข้าม) + ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ณิก ปัจจัย, ยืดเสียง อ (ที่ ป-) เป็น อา ด้วยอำนาจ “ปัจจัยเนื่องด้วย ณ”
: ปรา + ชิ + ณิก = ปราชิก > ปาราชิก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้พ่ายแพ้”
“ปาราชิก” เป็นชื่ออาบัติที่มีโทษร้ายแรงที่สุด ทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิดต้องพ่ายแพ้จากสมณเพศ (ไม่นับว่าเป็นภิกษุอีกต่อไป) มี 4 กรณี คือ :
(1) เสพเมถุน (ร่วมเพศกับคนหรือสัตว์)
(2) ลักทรัพย์
(3) ฆ่ามนุษย์
(4) อวดอุตริมนุสธรรม
ในพระวินัยปิฎก ท่านอุปมาภิกษุผู้ล่วงละเมิดปาราชิกแต่ละกรณีไว้ด้วย ท่านที่ไม่คุ้นกับคัมภีร์บาลีหรือหลักพระธรรมวินัยอาจจะไม่เคยทราบมาก่อน
สิ่งที่ท่านนำมาอุปมานั้นน่าพิจารณา
สำนวนอุปมาก็น่าศึกษา
นับเป็นอลังการทางภาษาได้ส่วนหนึ่ง
พึงสดับ ดังนี้ :
(1) เสพเมถุน : ปุริโส สีสจฺฉินฺโน = เหมือนคนถูกตัดศีรษะ
คนถูกตัดศีรษะไม่อาจจะมีชีวิตอยู่ได้อีกฉันใด
ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะเสพเมถุนก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น
(2) ลักทรัพย์ : ปณฺฑุปลาโส พนฺธนา ปวุตฺโต = เหมือนใบไม้เหลืองที่หลุดจากขั้ว
ใบไม้หลุดจากขั้วไม่อาจจะเขียวสดได้อีกฉันใด
ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะลักทรัพย์ก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น
(3) ฆ่ามนุษย์ : ปุถุสิลา เทฺวธา ภินฺนา = เหมือนหินทั้งแท่งที่แตกเป็นสองเสี่ยง
ก้อนหินแตกสองเสี่ยงต่อให้ติดสนิทเป็นเนื้อเดิมอีกไม่ได้ฉันใด
ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะฆ่ามนุษย์ก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น
(4) อวดอุตริมนุสธรรม : ตาโล มตฺถกจฺฉินฺโน = เหมือนตาลยอดด้วน
ตาลยอดด้วนไม่อาจจะงอกได้อีกฉันใด
ภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิกเพราะอวดอุตริมนุสธรรมก็พ่ายจากความเป็นพระฉันนั้น
: เสพเมถุน หมดบุญเหมือนคนหัวขาด
: ฉ้อทรัพย์ หมดรสชาติเหมือนใบไม้หล่น
: ฆ่ามนุษย์ หมดกุศลเหมือนหินแตกสองเสี่ยง
: อวดคุณวิเศษ หมดเกลี้ยงเหมือนตาลยอดด้วน
6-3-58