จุลศักราช (บาลีวันละคำ 1,889)
จุลศักราช
อ่านว่า จุน-ละ-สัก-กะ-หฺราด
แยกคำเป็น จุล + ศักราช
(๑) “จุล”
บาลีเป็น “จุลฺล” อ่านว่า จุน-ละ (แผลงเป็น “จูฬ” ก็มี) รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = สะสม) + ล ปัจจัย, แปลง อิ ที่ จิ เป็น อุ, ซ้อน ล
: จิ > จุ + ล = จุล + ล = จุลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาสะสม” หมายถึง เล็ก, น้อย, บาง, ผอม
“จุลฺล” ในบาลีมิได้หมายถึงจำนวนหรือปริมาณน้อย แต่หมายถึงขนาดหรือระดับ
ถ้าดูคำแปลในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษจะเข้าใจชัด คือ “จุลฺล” แปลว่า small, minor คำตรงข้ามก็คือ “มหา” หรือ great, major
“จุลฺล” ในบาลีมักใช้คู่กับ “มหา” เป็นชื่อคัมภีร์หรือชื่อพระสูตร เช่น จุลฺลวคฺค คู่กับ มหาวคฺค, จุลฺลนิทฺเทส คู่กับ มหานิทฺเทส กับใช้ประกอบชื่อบุคคลเพื่อแสดงถึงความแตกต่างเหมือนเป็นเอกลักษณ์ เช่น จุลลปันถก คู่กับ มหาปันถก
กรณีเป็นชื่อบุคคลนี้ถ้าเทียบในภาษาไทยพอให้เข้าใจง่ายแบบขำๆ ก็อย่างเช่น ตี๋เล็ก กับ ตี๋ใหญ่
ตี๋เล็ก คือ “จุลตี๋”
ตี๋ใหญ่ ก็คือ “มหาตี๋”
(๒) “ศักราช”
คำว่า “ศัก” มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า “ศก” (สะ-กะ) เป็นชื่อราชวงศ์ที่มีอำนาจปกครองอินเดียโบราณทางตอนเหนือระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 ถึงพุทธศตวรรษที่ 9 อาณาจักรของราชวงศ์ศกะ ปัจจุบันอยู่ในแคว้นคุชราษฏร์ พระราชาพระองค์หนึ่งในราชวงศ์นี้ทรงพระนามว่าพระเจ้าศาลิวาหนะ (สา-ลิ-วา-หะ-นะ) เป็นผู้ริเริ่มนำชื่อราชวงศ์ คือ ศกะ มาใช้เป็นชื่อเรียกปี และเกิดคำว่า “ศกราช” (สะ-กะ-รา-ชะ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ศก” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศก : (คำนาม) อธิราช; วิเศษวรรณ, ผู้สันตติของศกหรือศาลิวาหน; ประเทศ; นิวาสิน; กาล, วิศิษฏกาล; a sovereign; a particular caste, the descendants of śaka and śālivāhana; a country; the inhabitants; an era.”
ศก + ราช = ศกราช แปลว่า “พระราชาแห่งราชวงศ์ศกะ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ศักราช” (สัก-กะ-หฺราด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศักราช : (คำนาม) อายุเวลาซึ่งกําหนดตั้งขึ้นเป็นทางการ เริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สําคัญ เรียงลําดับกันเป็นปี ๆ ไป เช่น พุทธศักราช ๑, ๒, ๓, … จุลศักราช ๑, ๒, ๓, … (ตามความนิยมที่ใช้เป็นธรรมเนียมกันมา, คํา ศักราช ในคําเช่น พุทธศักราช คริสต์ศักราช จะใช้ว่า ศก เป็น พุทธศก คริสต์ศก ก็ได้ แต่คําเช่น มหาศักราช จุลศักราช ไม่นิยมใช้ว่า มหาศก จุลศก ส่วนคําว่า รัตนโกสินทรศก ไม่นิยมใช้ว่า รัตนโกสินทรศักราช), (ปาก) โดยปริยายหมายความว่า ช่วงใดช่วงหนึ่งซึ่งเริ่มต้นเหตุการณ์สำคัญในชีวิตบุคคล เช่น เริ่มศักราชแห่งชีวิตใหม่ พอเรียนหนังสือจบก็เริ่มศักราชของการทำงาน.”
จุล + ศักราช = จุลศักราช
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จุลศักราช : (คำนาม) ศักราชน้อย เริ่มตั้งภายหลังพุทธศักราช ๑๑๘๑ ปี (พุทธศักราชลบด้วย ๑๑๘๑ เท่ากับจุลศักราช).”
ดูเพิ่มเติม: “ศก-ศักราช” บาลีวันละคำ (698) 15-4-57
…………..
ขยายความ :
ชนชาติไทยนิยมอ้างวันเดือนปีเป็น “จุลศักราช” มาตั้งแต่อาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา ตลอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เอกสารประวัติศาสตร์ของไทยมักอ้างปีเป็นจุลศักราชเสมอ เช่น –
“ปีระกา ตรีศก จุลศักราช 1343”
ข้อควรรู้คือ เมื่ออ้างปีเป็นจุลศักราช จะต้องมีคำเรียก “ศก” ประจำจุลศักราชนั้นๆ นำหน้ามาก่อนเสมอ ดังในตัวอย่างข้างต้นคือคำว่า “ตรีศก”
“ศก” ของจุลศักราชมีทั้งหมด 10 ชื่อ โดยใช้ตัวเลขลงท้ายจุลศักราชเป็นเกณฑ์ ดังนี้ –
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 1 เรียก “เอกศก” (เอก-กะ-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “เอก” (เอ-กะ)
ลงท้ายเลข 2 เรียก “โทศก” (โท-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “ทฺวิ” (ทุ-อิ๊)
ลงท้ายเลข 3 เรียก “ตรีศก” (ตฺรี-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “ติ” (ติ)
ลงท้ายเลข 4 เรียก “จัตวาศก” (จัด-ตะ-วา-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “จตุ” (จะ-ตุ)
ลงท้ายเลข 5 เรียก “เบญจศก” (เบน-จะ-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “ปญฺจ” (ปัน-จะ)
ลงท้ายเลข 6 เรียก “ฉศก” (ฉอ-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “ฉ” (ฉะ)
ลงท้ายเลข 7 เรียก “สัปตศก” (สับ-ตะ-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “สตฺต” (สัด-ตะ)
ลงท้ายเลข 8 เรียก “อัฐศก” (อัด-ถะ-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “อฏฺฐ” (อัด-ถะ)
ลงท้ายเลข 9 เรียก “นพศก” (นบ-พะ-สก) ศัพท์สังขยาบาลี “นว” (นะ-วะ)
ลงท้ายเลข 0 เรียก “สัมฤทธิศก” (สำ-ริด-ทิ-สก) ศัพท์สังขยาบาลีเฉพาะ 10 คือ “ทส” (ทะ-สะ)
แถม: จำนวน 10 ที่ทวีขึ้น คือ –
20 = วีส, วีสติ (วี-สะ, วี-สะ-ติ)
30 = ตึส, ตึสติ (ติง-สะ, ติง-สะ-ติ)
40 = จตฺตาลีส (จัด-ตา-ลี-สะ เขียนเป็น จตฺตาฬีส ก็มี)
50 = ปญฺญาส, ปณฺณาส (ปัน-ยา-สะ, ปัน-นา-สะ)
60 = สฏฺฐิ (สัด-ถิ)
70 = สตฺตติ (สัด-ตะ-ติ)
80 = อสีติ (อะ-สี-ติ)
90 = นวุติ (นะ-วุ-ติ)
100 = สต (สะ-ตะ)
1,000 = สหสฺส (สะ-หัด-สะ)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าห่วงว่าจะอยู่ไปได้จนถึงศักราชกี่ปี
: แต่จงห่วงว่าวันนี้ทำความดีแล้วหรือยัง
11-8-60