บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เกียรติของครู

เกียรติของครู

————–

ผมไปถวายความรู้ภาษาบาลีแก่พระคุณเจ้าที่วัดใกล้บ้านมาเป็นเวลาหลายเดือน ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า นักเรียนบาลีสมัยนี้เรียนวิธีสอบมากกว่าเรียนเอาความรู้

“เรียนวิธีสอบ” หมายความว่า เรียนเก็งข้อสอบ คือเก็งว่าปีนี้ข้อสอบจะออกอะไร เรียนเทคนิคการทำข้อสอบ คือถ้าข้อสอบออกมาอย่างนี้จะต้องทำอย่างจึงจะสอบได้

สมัยผมเรียน ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้สอนวิธีสอบ แต่ท่านสอนให้มีความรู้

ผมก็ใช้วิธีเดียวกันในการถวายความรู้แก่พระ

ผมเชื่อว่า ผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจดีแล้ว เมื่อเข้าสนามสอบย่อมใช้ความรู้ความเข้าใจนั้นแก้ปัญหาในข้อสอบได้

ถึงหากจะสอบไม่ผ่านเพราะเหตุผิดพลาดบกพร่องในทางใดๆ ก็ตาม แต่ความรู้ความเข้าใจที่เรียนมานั้นก็จะยังอยู่เป็นอาภรณ์ประดับชีวิตตลอดไป

ต่างจากผู้มุ่งเรียนวิธีสอบ ซึ่งอาจมีความสามารถทำข้อสอบได้ แต่เมื่อสอบได้แล้วก็ไม่ได้มีความรู้ครบตามภูมิชั้นที่สอบได้ 

————–

เพื่อนรุ่นพี่ผมคนหนึ่ง ตอนสอบเปรียญธรรม ๔ ประโยค วิชาแปลไทยเป็นมคธ เขาท่องธัมมปทัฏฐถา ภาค ๑ (หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนซึ่งจะออกข้อสอบ) หมดทั้งเล่ม ผลปรากฏว่าเขาสอบผ่านเป็นมหา ๔ ประโยคได้อย่างสบาย 

แต่เขาสารภาพเองว่าไม่มีความรู้หลักการแต่งภาษาไทยเป็นบาลีเลย ให้แต่งอะไรนอกจากที่ท่องไว้เขาก็ทำไม่ได้ 

และตอนนี้ที่ท่องได้ทั้งเล่มเขาก็ลืมหมดสิ้นแล้ว ไม่เหลืออะไรเลยนอกจากประกาศนียบัตร ป.ธ.๔ ที่มีไว้เพื่อประจานความเขลาของตัวเอง

————–

พระนักเรียนที่ผมไปถวายความรู้ท่านบอกว่า นักเรียนบาลีเดี๋ยวนี้เรียนวิธีสอบกันทั้งนั้น 

มีศัพท์เรียกว่า “ทักษะวิธีทำข้อสอบ”

ฟังดูเป็นวิชาการ น่าเลื่อมใส

ผลจากการเรียนทักษะวิธีทำข้อสอบช่วยให้ผู้เรียนสามารถสอบผ่านได้สมความปรารถนา

แต่ไม่มีความรู้เต็มตามภูมิชั้น

สอบเปรียญธรรม ๕ ประโยคได้ แต่พอให้อธิบายหลักพื้นฐานของวิชา “วากยสัมพันธ์” (วิชาหนึ่งในชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค) ปรากฏว่าไม่รู้เรื่องเลย เพราะสอบผ่าน ป.ธ.๓ มาได้ด้วยเทคนิค “ทักษะวิธีทำข้อสอบ”

เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก

————–

ความรู้ความเข้าใจคือผลที่ประสงค์ในการเรียน

การสอบผ่านเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

กระบวนการเรียนการสอนและการสอบชนิดที่ผู้ไม่มีความรู้ความเข้าใจก็สามารถสอบผ่านได้นั้นต้องถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างขนานใหญ่

นี่ยังไม่ได้พูดถึงเทคนิคการทุจริตในการสอบที่ว่ากันว่านับวันก็ยิ่งแนบเนียนสุดๆ

การเรียนบาลีของเรากำลังดำเนินไปในลักษณาการดังว่ามานี้ 

ซึ่งก็คือกำลังดำเนินไปสู่หายนะ

—————

ครูผู้สอนสามารถช่วยกันแก้ไขได้ขอรับ

คืออย่าสอนเพียงแค่ทักษะวิธีทำข้อสอบ

แต่จงสอนให้ผู้เรียนได้ความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เรียนเป็นที่ตั้ง

ถ้าไม่รู้จะเริ่มเมื่อไร ก็เริ่มตั้งแต่วันครูนี่เลยขอรับ

ผมรับรองไม่ได้ว่าพระคุณเจ้าที่ผมถวายความรู้จะสามารถสอบผ่าน

แต่ผมรับรองได้ว่าท่านจะมีความรู้ความเข้าใจในภาษาบาลีสมตามภูมิชั้นอย่างแน่นอน

และความรู้ความเข้าใจนั้นจะเป็นพื้นฐานแห่งการศึกษาและสัมมาปฏิบัติต่อไป

สอนให้มีความรู้ แม้จะสอบตก

มีเกียรติกว่าสอนให้สอบได้ แต่ไร้ความรู้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

วันครู 

๑๖ มกราคม ๒๕๕๘

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *