เกียรติของเครื่องแบบ
เกียรติของเครื่องแบบ
———————
เมื่อแรกเข้ารับราชการในกองทัพเรือนั้น ผมมีสถานภาพเป็น “ข้าราชการกลาโหมพลเรือน”
ได้ยินคำนี้ทีแรกฟังดูขัดๆ ชอบกลอยู่ เพราะเท่าที่เข้าใจกันนั้นข้าราชการกลาโหมกับข้าราชการพลเรือนเป็นคนละสายกัน
กลาโหมเป็นทหาร พลเรือนก็พลเรือนธรรมดา
“กลาโหมพลเรือน” หมายถึงข้าราชการที่สังกัดกระทรวงกลาโหม แต่เป็นพลเรือน ไม่ใช่ทหาร
————
ขออนุญาตแวะตรงนี้นิดหนึ่ง เพื่อหาความรู้
ทหารไทยที่เราเห็นอยู่ทั่วไปนั้นมีที่มาดังนี้ –
๑ มาจากเด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียนเหล่าของกองทัพ คือโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ จบแล้วเป็นนายทหารสัญญาบัตรหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเป็นนายร้อย
๒ มาจากเด็กที่เข้าเรียนเป็นนักเรียนนายสิบ (ของกองทัพบก) นักเรียนจ่า (ของกองทัพเรือ) นักเรียนจ่าอากาศ (ของกองทัพอากาศ) จบแล้วเป็นนายทหารประทวน เมื่อรับราชการต่อไปสามารถเลื่อนฐานะเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้
๓ มาจากชายฉกรรจ์ที่เข้ารับการตรวจคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการตามกฎหมาย คือที่เราเรียกกันว่าพลทหาร ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกองทัพตามระยะเวลาที่กำหนด
๔ มาจากพลเรือนคือชาวบ้านธรรมดาที่มีวุฒิทางการศึกษาตรงตามที่กองทัพต้องการ โดยการสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ ของกองทัพ
จำพวกที่ ๑-๒-๓ พอเข้าไปในกองทัพก็ถูกฝึกให้เป็นทหารทันที แล้วจึงทำงาน
ส่วนจำพวกที่ ๔ นั้นเข้าไปทำงานก่อน แล้วจึงถูกฝึกให้เป็นทหาร ฝึกจบแล้วจึงจะได้รับการแต่งตั้งยศ จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรหรือนายทหารประทวนขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สอบบรรจุ
จำพวกที่ ๔ นี้ ถ้าเคยเป็นพลทหารหรือเคยเรียนวิชารักษาดินแดน (รด.) มาก่อน เมื่อบรรจุเข้ารับราชการจะได้รับการแต่งตั้งยศทหาร-แต่งเครื่องแบบทหารได้-ทันที
ผมอยู่ในจำพวกที่ ๔ แต่ยังไม่ได้ฝึกวิชาทหาร จึงต้องเป็น “กลาโหมพลเรือน” ไปก่อน คือยังแต่งเครื่องแบบทหารไม่ได้
ทำไมเขาจึงไม่ให้พวกที่ยังไม่ได้ฝึกวิชาทหารแต่งเครื่องแบบทหาร?
ก็เพราะคนที่จะแต่งเครื่องแบบทหารได้ต้องรู้ขนบธรรมเนียมของทหาร
การยืน การเดิน การนั่ง
การพูด การทักทาย
การแสดงความเคารพ
การวางกิริยาเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอาวุโสสูงกว่า
การปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้มีอาวุโสต่ำกว่า
การออกคำสั่ง การรับคำสั่ง
แบบแผนหรือหลักนิยมในการปฏิบัติราชการทางทหาร
ฯลฯ
เหล่านี้ ล้วนมีแบบฉบับของทหารทั้งสิ้น
และต้องปฏิบัติตามแบบฉบับนั้นด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง มิใช่สักแต่ว่าทำ
ผู้ที่มีสิทธิ์แต่งเครื่องแบบจึงต้องได้รับการฝึกให้มีสำนึกสูงพอที่จะรักษาเกียรติของเครื่องแบบไว้ได้
ถ้าเทียบกับพระอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น
พระท่านมีหลักธรรมที่เรียกว่า “ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณะ” (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ) มีอยู่ข้อหนึ่งว่า
“บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว
อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ
เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”
คนแต่งเครื่องแบบทหารก็ต้องพิจารณาเนืองๆ ว่า
“บัดนี้เรามีเพศต่างจากพลเรือนแล้ว
อาการกิริยาใดๆ ของทหาร
เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”
————
ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดทำไม?
เมื่อเช้านี้ (๑ กันยายน) ผมเดินออกกำลังผ่านหน้าวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ไปทางตลาดศรีเมือง เลี้ยวขวาตรงหน้าทางเข้าตลาดศรีเมือง ไปตามถนนเพชรเกษมสายเก่า
ยังไม่ทันถึงสี่แยกต้นสำโรง ก็พอดีติดเพลงชาติ
ถนนเพชรเกษมสายเก่า ณ เวลานั้นมีรถวิ่งตลอด ทั้งรถยนต์ รถเครื่อง
เมื่อเพลงชาติดังขึ้นจากลำโพงเสียงตามสายของเทศบาล รถทุกคันยังวิ่งกันขวักไขว่ตามปกติ
ตลอดถนนสายนั้นมีชายสูงอายุ-คือผม-เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยืนตรงเคารพเพลงชาติ
เพียงคนเดียวเท่านั้น-จริงๆ !!
————
แน่นอน มีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่สามารถยกขึ้นมาอ้างได้
ฯลฯล
ฯลฯ
หยุดทำไม
หยุดไม่ได้
รถวิ่งตามกันมาหยุดได้ไง
เสียเวลา
ไม่จำเป็น
ถ้าคันอื่นหยุดสิ ฉันจะหยุด นี่มีใครเขาหยุดกันมั่งล่ะ
ฯลฯ
ความรักชาตินี่ต้องแสดงออกด้วยการเคารพเพลงชาติเท่านั้นรึ
ฯลฯ
ประเทศอื่นที่เขาเจริญกว่าเราร้อยเท่า เพราะประชาชนเขาเคารพเพลงชาติงั้นสิ
ฯลฯ
ฯลฯ
————
ตอนนี้ได้ยินว่าผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมืองกำลังเตรียมการเรื่องรัฐธรรมนูญอันเป็นระเบียบแม่บทของการบริหารบ้านเมือง
จะเรียกว่าหัวใจของประชาธิปไตยก็ว่าได้
เราถกเถียงกันและให้ความสำคัญเป็นอันมาก-กับเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ-หัวใจของประชาธิปไตย
แต่เราไม่ได้สนใจกันเลยสักนิดว่า คนของเรามีหัวใจเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง
เราไม่มีมาตรการ-ถึงหากจะมีก็ไม่ได้เข้มแข็งเด็ดขาดจริงจังที่จะใช้มาตรการนั้น-สำหรับฝึกหัดอบรมสั่งสอนคนของเราให้มีสำนึกสูงพอที่จะรักษาเกียรติแห่งประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้
จะฝึกหัดอบรมสั่งสอนกันอย่างไร ก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไป
ถ้าถามว่า ประเทศของเราต้องการให้เด็กไทย-คนไทยในอนาคต-มีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร
และมีใครลงมือฝึกหัดอบรมสั่งสอนเพื่อให้เป็นอย่างนั้นแล้วหรือยัง
ใครตอบได้บ้าง?
แค่ได้ยินเพลงชาติควรปฏิบัติตัวอย่างไร ก็ยังไม่รู้และไม่ทำกันเลย
แต่ที่อนาถยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริการกิจการบ้านเมืองก็ไม่เคยมีความคิดที่จะฝึกหัด อบรม สั่งสอน กวดขันผู้คนในบ้านเมืองแต่ประการใดทั้งสิ้น
ประชาธิปไตยนั้นก็เหมือนเครื่องแบบ
ถ้าอยากแต่งเครื่องแบบ ต้องสอนกันให้รู้จักรักษาเกียรติของเครื่องแบบด้วยครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ กันยายน ๒๕๕๘