ของสงฆ์กับโจรใส่สูท
ของสงฆ์กับโจรใส่สูท
———————–
วันนี้ (๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) เป็นวันพระเดือนขาด คือเดือนไทยสิ้นเดือนในวันแรม ๑๔ ค่ำ
ผมไปทำบุญที่วัดตามปกติ
โปรดอนุโมทนาบุญโดยทั่วกันนะครับ
วันพระนี้หลวงพ่อเจ้าอาวาสกล่าวสัมโมทนียกถาเรื่องต้นไม้ภายในวัด
ท่านว่าเดี๋ยวนี้มีแต่คน “ชอบ” ต้นไม้
แต่หาคน “รัก” ต้นไม้ไม่ค่อยมี
วัดมหาธาตุ ราชบุรีเมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วเป็นดงสมุนไพร
ใครจะต้มยาสักหม้อหนึ่ง เข้ามาในวัดมหาธาตุแล้วได้เครื่องยาครบ
ผมมาอยู่วัดมหาธาตุปี ๒๕๐๖ ยังทันได้เห็นสภาพปลายๆ ของ “ดงสมุนไพร”
เช่นยังได้ทันเห็นสมอทุกชนิด
ดีปลี มะคำไก่ มะขามป้อม มะสัง แจง ส้มป่อย บุกทุกชนิด เจตมูลเพลิง ฯลฯ
ผมมาจากป่าจึงค่อนข้างคุ้นกับพืชพวกนี้
หลวงพ่อท่านพยายามอนุรักษ์ไม้ป่า-พืชป่า ที่ใช้เป็นสมุนไพรได้เอาไว้
แต่ก็อย่างที่ท่านว่า
เดี๋ยวนี้มีแต่คน “ชอบ” ต้นไม้ แต่หาคน “รัก” ต้นไม้ไม่ค่อยมี
“ชอบ” หมายความว่า พอต้นไม้มีดอกออกใบให้ผล ก็จะมีคนมาชื่นชม … ดอกสวย ใบงาม ผลดก …
“รัก” หมายความว่า เสาะหาพันธุ์มาปลูก ปลูกแล้วคอยระวังรักษาไม่ให้มันตาย
หลวงพ่อว่า หน้าฝนค่อยสบายหน่อย แต่หน้าแล้งเหนื่อยมาก
ท่านเล่าว่า ในวัดมี “กลิ้งกลางดง” อยู่ต้นหนึ่ง-ต้นเดียว
หลังงานปีเมื่อช่วงมาฆบูชาที่ผ่านมา มีประกวดกล้วยไม้ พันธุ์ไม้ต่างๆ
พอเลิกงาน กลิ้งกลางดงก็อันตรธานตามงานไปด้วย
เมื่อสองสามวันนี้ท่านเดินตรวจวัด ไปเห็นชาวบ้านคนหนึ่งกำลังตัดไม้สมุนไพรใส่รถบรรทุก ก็ถามว่า ตัดไปทำไม
“เอาไปทำยา”
“ทำยา ต้องถึงกับใส่รถบรรทุกเชียวรึ”
โยมคนนั้นอึ้ง
“แล้วนี่ขออนุญาตใคร” ท่านถามต่อ
“ขอพระแล้ว”
“องค์ไหน ?”
“ไม่รุ เห็นเดินอยู่แถวนี้”
หลวงพ่อบอกว่าเหนื่อย
ตอนปลูกไม่ช่วย พอไม้สวยแล้วมาตัด
ท่านว่า พืชพันธุ์หลายๆ อย่างในวัด ก็ปลูกไว้ให้ญาติโยมใช้นั่นแหละ พระแทบไม่ได้ใช้อะไร
ท่านว่า ไม่หวงหรอก แต่ต้องบอกท่านก่อน บางชนิดยังให้ตัดให้เด็ดไม่ได้เพราะยังไม่โตพอ ตัดไปตัดมาประเดี๋ยวก็ตายกันพอดี
สมัยก่อน วัดมหาธาตุมีต้นประดู่ใหญ่อยู่ ๒ ต้น ชาวบ้านมาถากเปลือกเอาไปต้มยาจนตายไปต้นหนึ่ง แล้วก็เริ่มจะถากต้นที่สอง
พระผู้ใหญ่ในวัดเห็นท่าไม่ดี จึงเขียนป้ายติดไว้ว่า
“ห้ามถากเปลือกประดู่”
ประดู่ต้นนั้นเลยรอดตาย อยู่มาได้จนทุกวันนี้
————
ข้อสำคัญ โปรดทราบว่า ไม้ที่ปลูกไว้ในวัดนับว่าเป็นของสงฆ์
คนโบราณ “ถือ” มากเรื่อง “ของสงฆ์”
อะไรที่เป็น “ของสงฆ์” แล้ว กลัวนัก
เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าเรื่องหนึ่ง
คือคนโบราณสวมรองเท้าเข้าวัด ขากลับก่อนออกประตูวัด จะเคาะรองเท้าก่อน กลัวดินวัดจะติดรองเท้าออกไป
ผู้รู้ท่านว่า ประเพณีขนทรายเข้าวัดก็มีสาเหตุมาจากกลัวดินวัดติดเท้าออกไปนี่แหละ
คือไม่รู้ไม่แน่ใจว่าแต่ละคนจะทำให้ดินวัดติดเท้าออกไปมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้น เหมารวมไปเลยว่าปีหนึ่งขนดินมาใช้หนี้วัดกันทีหนึ่ง
คนโบราณจิตใจละอียดอ่อนยิ่งนัก
ส่วนที่ผมยังได้ทันเห็นกับตาตัวเอง อย่างน้อย ๒ เรื่อง
๑ ยืมของวัดไปใช้ เช่นเวลามีงาน ยืมชามยืมช้อนเสื่อสาดอาสนะของวัดไปใช้งาน พอเสร็จเอามาส่งคืน จะไม่ยอมให้ขาดจำนวนเป็นเด็ดขาด
ของบางชนิดมีธรรมเนียมว่าต้องคืนให้มากกว่าที่ยืม
เช่นยืมช้อนไป ๑๐๐ คัน ต้องคืน ๑๒๐ คัน
ยืมจานไป ๒๐๐ ใบ ต้องคืน ๒๓๐ ใบ อย่างนี้เป็นต้น
คนเก่าๆ จะสอนกันไว้เลยว่า “เอาของสงฆ์ ทำกินไม่ขึ้น”
๒ ไปทำบุญวันพระ ถ้าพระไม่อปโลกน์ จะไม่ยอมกินข้าววัด เพราะถือว่าอาหารที่นำมาทำบุญนั้นเป็นของสงฆ์ กินของสงฆ์ เป็นบาป
เรื่องนี้ยังมีคนถือกันอยู่มาก แต่มีเงื่อนไขซับซ้อนอยู่
ว่างๆ ผมจะอธิบายให้ฟัง
“ของสงฆ์” ยังกินความไปถึงของส่วนรวม และผลประโยชน์ของแผ่นดินด้วย
ดังมีคำที่เราพูดกันว่า “ของหลวง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”
คนที่โกงกินผลประโยชน์ของแผ่นดินนั้นจึงไม่ต่างกับคนที่ลักขโมยของสงฆ์
คนสมัยนี้แทบจะไม่เห็นความสำคัญของ “ของสงฆ์” กันแล้ว
สมัยผมเป็นเด็ก คนขี้ลักขี้ขโมยขนาดไหนก็ไม่ลักของวัดเด็ดขาด กลัวตกนรก
โจรสมัยโบราณยังมีศีลธรรมสูงกว่าโจรใส่สูทสมัยนี้นะ – ผมว่า
๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ส่งให้ ข่าวภาค 7
26-6-57