บาลีวันละคำ

อลังการ [2] (บาลีวันละคำ 4,565)

อลังการ [2]

ทบทวนกันอีกที

อ่านว่า อะ-ลัง-กาน

แยกศัพท์เท่าที่ตาเห็นเป็น อลัง + การ

(๑) “อลัง” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อลํ” อ่านว่า อะ-ลัง เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ศัพท์จำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมเสมอ บาลีไวยากรณ์จัดไว้ในจำพวกนิบาตบอกปฏิเสธ นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “อลํ พอ” แต่นิยมแปลกันว่า “อลํ อย่าเลย”

อลํ” ในบาลีมีความหมายที่พอประมวลได้ดังนี้ – 

(1) แน่นอน, เป็นอย่างนั้นแน่, จริง ๆ, แน่แท้ (sure, very much so, indeed, truly)

(2) พอ! เท่านั้นละ! หยุด! แหม! (enough! have done with! fie! stop! alas!) (ใช้ในความหมายตำหนิ)

(3) พอกันที (enough of) 

ในกรณีใช้ร่วมกับคำอื่น ความหมายขยายตัวออกไปอีก เช่น –

(4) อลํ+อตฺถ = อลมตฺถ (อะ-ละ-มัด-ถะ): นั่นแหละถูกแล้ว, ดีจริง ๆ, ได้ประโยชน์มาก, มีประโยชน์ (quite the thing, truly good, very profitable, useful)

(5) อลํ+อริย = อลมริย (อะ-ละ-มะ-ริ-ยะ): แท้จริง, ประเสริฐแน่, มีเกียรติยศจริง ๆ (truly genuine, right noble, honourable indeed)

(6) อลํ+กมฺมนิย = อลงฺกมฺมนิย (อะ-ลัง-กำ-มะ-นิ-ยะ): เหมาะจริง ๆ หรือเหมาะทุกประการ (quite or thoroughly suitable)

(๒) “การ

ภาษาไทยอ่านว่า กาน บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเรื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ

: กรฺ + = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ” มีความหมายว่า –

(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)

(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)

(3) ผู้ทำ, หรือผู้จัดการหรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)

ในภาษาไทย เรานำคำว่า “การ” มาใช้และกลายเป็นคำไทยจนแทบจะไม่ได้นึกว่าเป็นบาลี เช่นคำว่า “จัดการ” “เผด็จการ” เป็นต้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “การ” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) การ ๑ : (คำนาม) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทำ, มักใช้เข้าคู่กับคำ งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทำกริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.

(2) –การ ๒ : (คำนาม) ผู้ทำ, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคำบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคำอื่นที่ไม่ใช่คำศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ.

(3) –การ ๓ : คำประกอบท้ายสมาสคำบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.

อลํ + การ = อลํการ อ่านว่า อะ-ลั-ง-กา-ระ 

อลํการ” แปลงนิคหิตเป็น งฺ สะกดเป็น “อลงฺการ” ก็มี

ในคัมภีร์พบทั้ง “อลํการ” และ “อลงฺการ” 

ขยายความ :

อลํการ” หรือ “อลงฺการ” ตามรากศัพท์แปลว่า –

(1) “ทำให้พอ” หรือ “ทำให้พอใจ” = ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว เพราะพอแล้ว หรือเพราะพอใจแล้ว = ทำจนงามพอแล้ว

(2) “ทำให้ใช้ได้” = ทำจนดูดี ทำจนถูกใจ จนร้องออกมาว่า “ใช้ได้แล้ว”

(3) “อย่าทำ (อะไรอีก)” = ที่ทำไว้นี้ดีแล้ว อย่าไปแตะต้องอะไรอีก = ทำจงงามพอแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีก

(4) “เหมาะแล้วที่จะทำให้ (เป็นที่ถูกใจ)” = ที่เห็นสิ่งนั้นงามหรือดีนั้น เหมาะสมแล้ว จึงพอใจ

(5) “สามารถทำให้ (เป็นที่ถูกใจ) ได้” = ทำให้ยอมรับได้ว่างาม ว่าดี ว่าถูกต้องแล้ว

อลํการอลงฺการ” ตามความหมายสามัญที่เข้าใจกัน จึงหมายถึง การประดับ, เครื่องประดับ, การเสริมแต่ง, การตกแต่ง, การทำให้งาม ก็คือ การทำให้พอใจ ถูกใจนั่นเอง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อลํการอลงฺการ” ว่า “getting up” i. e. fitting out, ornament, decoration; esp. trinkets, ornaments (“ทำให้ใช้ได้” คือ การปรับรูป, การประดับ, การตกแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องตกแต่งเล็ก ๆ น้อย ๆ) 

บาลี “อลํการอลงฺการ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อลังการ” อ่านว่า อะ-ลัง-กาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อลังการ : (คำนาม) การตกแต่ง, การประดับ; เครื่องตกแต่ง, เครื่องประดับ. (คำวิเศษณ์) งามด้วยเครื่องประดับตกแต่ง”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำที่เราพูด เราอาจไม่รู้ว่าทำไมจึงเป็นคำ

: แต่บุญที่เราทำ เราควรรู้ว่าทำไมจึงเป็นบุญ

#บาลีวันละคำ (4,565)

11-12-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *