นครรัฐ (บาลีวันละคำ 4,585)

นครรัฐ
ความหมายชัด ๆ ว่าอย่างไร?
อ่านว่า นะ-คอน-รัด
(ตามพจนานุกรมฯ)
ประกอบด้วยคำว่า นคร + รัฐ
(๑) “นคร”
บาลีอ่านว่า นะ-คะ-ระ รากศัพท์มาจาก –
(1) นค (อาคารสูง เช่นปราสาท) + ร ปัจจัย
: นค + ร = นคร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่มีปราสาทเป็นต้น”
(2) น (แทนศัพท์ “ธนธญฺญาทิสมฺปุณฺณ” = สมบูรณ์ด้วยทรัพย์และ ข้าวเปลือกเป็นต้น หมายถึงเครื่องอุปโภคบริโภคมีบริบูรณ์) + ฆร (บ้านเรือน), แปลง ฆ เป็น ค
: น + ฆร = นฆร > นคร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ซึ่งบ้านเรือนบริบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค”
(3) นค (อาคารสูง เช่นปราสาท) + รา (ธาตุ = ถือเอา) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (รา > ร)
: นค + รา = นครา > นคร + อ = นคร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ถือเอาซึ่งสิ่งปลูกสร้างที่สูง” (คือมีสิ่งปลูกสร้างสูงๆ)
“นคร” (นปุงสกลิงค์) ความหมายเดิมในบาลีหมายถึง ป้อม, ที่มั่น, ป้อมปราการ (a stronghold, citadel, fortress) ต่อมาจึงหมายถึง นครหรือเมือง (ที่มีป้อมค่าย) (a [fortified] town, city)
“นคร” เป็นทั้งรูปบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “นคร” ไว้ดังนี้ –
“นคร : (คำนาม) ‘นคร,’ บุรี, กรุง, เมืองเอก, ‘เมืองใหญ่หรือราชธานี;’ a town, a city, a capital or metropolis.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นคร, นคร– : (คำนาม) เมืองใหญ่, กรุง. (ป., ส.).”
(๒) “รัฐ”
บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ฐ ที่ รฐ + ต ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( –ฐต > –ฏฺฐ)
: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น “รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน
“รัฐ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัฐ, รัฐ– : (คำนาม) แคว้น เช่น รัฐปาหัง, บ้านเมือง เช่น กฎหมายสูงสุดของรัฐ, ประเทศ เช่น รัฐวาติกัน. (ป. รฏฺฐ; ส. ราษฺฏฺร).”
นคร + รัฐ = นครรัฐ แปลตามศัพท์ว่า (1) “บ้านเมืองของรัฐ” (2) “รัฐของบ้านเมือง”
ไม่ว่าจะแปลอย่างไร ก็ยังต้องการคำอธิบายว่า หมายความว่าอะไร?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“นครรัฐ : (คำนาม) เมืองที่ปกครองตนเองเป็นอิสระ. (อ. city state).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามเป็นดังนี้ –
“นครรัฐ : (คำนาม) เมืองที่ปกครองตนเองเป็นอิสระ เช่น นครรัฐวาติกัน. (อ. city state).”
ได้ความว่า “นครรัฐ” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า city state และบัญญัติตรงตัว คือ –
city = นคร
state = รัฐ
city state = นครรัฐ
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “นครรัฐ” (อ่านเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เวลา 20:30 น.) กล่าวถึง “นครรัฐ” ดังนี้ –
…………..
นครรัฐ (อังกฤษ: city state) คือภูมิภาคที่ควบคุมโดยสมบูรณ์โดยเมืองเพียงเมืองเดียว ส่วนใหญ่จะมีเอกราช
โดยประวัติศาสตร์แล้ว นครรัฐมักจะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ใหญ่กว่า ดังเช่นนครรัฐในกรีกโบราณ (เช่น เอเธนส์ สปาร์ตา และโครินธ์) เมืองในเอเชียกลางตามเส้นทางสายไหม นครรัฐในอิตาลีเหนือ (โดยเฉพาะ ฟลอเรนซ์และเวนิซ)
ปัจจุบันประเทศที่เป็นนครรัฐมีอยู่ทั้งหมด 3 ประเทศ คือ สาธารณรัฐสิงคโปร์, ราชรัฐโมนาโก และนครรัฐวาติกัน แต่บางแห่งก็ถูกจัดว่าเป็นนครรัฐด้วย ได้แก่ สาธารณรัฐมอลตา สาธารณรัฐซานมารีโน ราชรัฐลีชเทินชไตน์ ราชรัฐอันดอร์รา ราชรัฐลักเซมเบิร์ก รัฐกาตาร์ เนการาบรูไนดารุสซาลาม รัฐคูเวต และราชอาณาจักรบาห์เรน
…………..
ที่น่ารู้อย่างยิ่งก็คือ “นครรัฐ” มีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เมื่อเทียบกับรัฐหรือประเทศธรรมดาทั่วไปแล้วอะไรบ้างที่เป็นความแตกต่างกัน
ท่านผู้ใดมีข้อมูลที่ตอบคำถามนี้ได้ ถ้าจะกรุณานำมาร่วมบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
: บ้านเมืองเป็นหัวใจของนักรบ
: ความสงบเป็นหัวใจของนักบุญ
ดูก่อนภราดา!
: นักบุญที่ไม่รักสงบ
: จะต่างอะไรกับนักรบที่ไม่รักบ้านเมือง?
#บาลีวันละคำ (4,585)
31-12-67
…………………………….
…………………………….